ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน ประกาศความสำเร็จการจัดบริการ ‘อนามัยเจริญพันธุ์’ ของระบบหลักประกันสุขภาพฯ กึกก้องเวทีประชุมนานาชาติ Women Deliver ที่ประเทศแคนาดา ระบุ ช่วยลดความสูญเสียอย่างมหาศาล นับเป็นการลงทุนทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ยืนยันไทยเดินหน้าขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุม “กลุ่มเปราะบาง” ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับบริการอย่างเท่าเทียม

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน ได้นำเสนอบทบาทของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยกับสิทธิด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ (Universal coverage to sexual and reproductive health right in Thailand) ในที่ประชุมนานาชาติ Women Deliver หัวข้อ Investing in Sexual and Reproductive Health and Right: Generate Support, Drive Implementation เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตอนหนึ่งว่า การจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์โดยรัฐถือเป็นการลงทุนทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทำให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเข้าถึงการรักษา และยังช่วยสร้างเศรษฐกิจ

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางสาธารณสุขของประชาชนที่รัฐจะต้องจัดบริการให้ จึงมีการพัฒนาและให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับจัดบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ดีและนำไปสู่การสร้างประชากรที่มีคุณภาพ

“เราให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาตั้งแต่วัยเรียน เราให้ความรู้ด้านการวางแผนครอบครัวและบริการคุมกำเนิดสมัยใหม่แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน เราจัดบริการฝากครรภ์คุณภาพแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนและดูแลไปจนถึงการคลอด ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ตามกฎหมายแพทย์ก็สามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเรายังมีการคัดกรองโรคมะเร็งทางนรีเวชทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกให้แก่ผู้หญิงไทยทุกคนด้วย” น.ส. กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่าดัชนีอนามัยเจริญพันธุ์ของประเทศไทยดีขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น อัตรามารดาเสียชีวิตระหว่างคลอดเหลือเพียง 20 ต่อ 1 แสนประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 10 เท่า ทั้งที่ก่อนมีระบบหลักประกันฯ เคยอยู่ที่ 40 ต่อ 1 แสนประชากร หรืออัตราติดเชื้อในกลุ่มผู้หญิงอายุระหว่าง 15-25 ปี ที่ลดลง 5 เท่าในช่วงสองทศวรรษ และการลดลงของมะเร็งปากมดลูก จาก 24.7 ต่อ 1 แสนประชากร ในปี 2543 เหลือเพียง 11.7 ต่อ 1 แสนประชากร ในปี 2559

สำหรับก้าวต่อไปที่ประเทศไทยจะดำเนินการ คือการขยายชุดสิทธิประโยชน์ทุกด้านในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งรวมถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะต้องครอบคลุมไปถึงประชากรกลุ่มคนไร้รัฐ กลุ่มที่ตกหล่น และแรงงานข้ามชาติด้วย

“แม้เราจะมีบริการกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังผู้หญิงบางส่วนยังเข้าไม่ถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่น วิธีคุมกำเนิดที่ทันสมัย การเข้าถึงถุงยางอนามัยคุณภาพดีราคาถูก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพในการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงรุกของบุคลากรสุขภาพ และการให้ความสำคัญกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้เท่าทันด้วย” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่เพิ่งได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น ค่อนข้างมีอคติกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเคยกล่าวหาว่าระบบนี้เป็นนโยบายประชานิยมที่จะทำให้โรงพยาบาลขาดทุนจนเป็นภาระของประเทศและจะทำให้การคลังของประเทศล้มละลาย ซึ่งภาคประชาสังคมของไทยได้ช่วยกันปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพฯ ลุกขึ้นมาสู้คัดค้านสารพัดวิธีภายใต้ข้อจำกัดในรัฐบาลเผด็จการ ฉะนั้นหากประเทศใดต้องการที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถยั่งยืนอยู่ได้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือต้องทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและทำหน้าที่ช่วยกันเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งต่อไป

“ต้องย้ำอีกครั้งว่านี่คือการลงทุนทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทำให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเข้าถึงการรักษา และยังช่วยสร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายประชานิยม และหากประเทศไหนต้องการที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่ไม่สามารถจัดบริการพื้นฐานเหล่านี้ได้ก็ยากที่จะขยายไปบริการทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าได้” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว