ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การสู้รบกับเอดส์มีมาอย่างยาวนาน ผู้ที่ทำงานต่างรู้ดีว่าสงครามครั้งนี้ “ยืดเยื้อ”

เอดส์คือปัญหาระดับมนุษยชาติ โดยทั่วโลกพร้อมใจกันประกาศมาตรการกวาดล้างให้หมดไปในปี 2030

แน่นอนว่าประเทศไทยเอาด้วย และตั้งเป้าที่จะ Ending AIDs ให้เด็ดขาด

ระยะสั้น 1 ปีข้างหน้า หรือภายในปี ค.ศ. 2020 ประเทศไทยต้องมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่เกิน 2,000 ราย

และอีก 11 ปีข้างหน้า หรือภายในปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยจะเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่เกิน 1,000 ราย

คำถามคือจะเป็นไปได้ไหม ? ในเมื่อปีที่ผ่านมา (2018) เรายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ราว 6,000 ราย และประมาณการกันว่าในปีนี้ (2019) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังจะอยู่ที่ 5,000 ราย

วงเสวนาเรื่อง “ทิศทางการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย” ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2562 และเตรียมการจัดทำแนวทางการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2563 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 ที่ผ่านมา ได้ถกแถลงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

ในแผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์ประเทศไทย พ.ศ. 2558-2562 ได้กำหนดกรอบการให้บริการด้วยการเชื่อมโยงบริการ 5 องค์ประกอบสำคัญเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย การเข้าถึง การเข้าสู่บริการ การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการคงอยู่ในระบบ (Reach-Recruit-Test-Treat-Retain : RRTTR) โดยตั้งเป้าหมายการทำงานเป็นสัดส่วน

หรือ ที่คุ้นชินกันว่าเป้าหมาย “90-90-90”

90 แรก คือ 90% ของผู้ติดเชื้อฯ ที่มีชีวิตอยู่ได้รับการวินิจฉัย หมายถึงคนที่ติดเชื้อ 100 คน ต้องรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ 90 คน

90 สอง คือ 90% ของผู้ติดเชื้อฯ ที่ได้รับการวินิจฉัยได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส หมายถึงคนที่ติดเชื้อ 90 คน ต้องได้รับยา)

90 สุดท้าย คือ 90% ของผู้ติดเชื้อฯ ที่ได้รับยาต้านฯ กดไวรัสสำเร็จ หมายถึงคนที่ได้รับยา 90 คน ต้องกดไวรัสสำเร็จ

ตัวเลขจาก สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงการดำเนินการขอประเทศไทยตามเป้าหมายดังกล่าวว่า ปัจจุบันสามารถทำได้ 98-75-84

ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์

อย่างไรก็ตาม ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 90-90-90 นี้ได้ เนื่องจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ กัมพูชา และสิงคโปร์ ก็ทำสำเร็จแล้ว

“ตัวเลข 90 แรกที่อยู่ที่ 98% นั้น ข้อมูลล่าสุดพบว่าทะลุ 100% ไปแล้ว แต่คำถามก็คือตัวเลขที่ปรากฏเหล่านี้เป็นข้อมูลจริงหรือไม่ เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องระบบการเก็บข้อมูลอยู่” ดร.พัชรา ตั้งคำถาม

เธอ บอกอีกว่า หากประเทศไทยต้องการประสบผลสำเร็จในการ Ending AIDs นอกจากการทลายข้อจำกัดต่างๆ แล้ว ยังต้อง “กล้าลงทุน” เพื่อพิชิตเอดส์ด้วย

พญ.เสาวนีย์ วิบุลันติ

ขณะที่ พญ.เสาวนีย์ วิบุลันติ ผู้แทนสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นี้ขณะประเทศไทยมียุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ที่มี 3 เป้าประสงค์คือ “ไม่ติด-ไม่ตาย-ไม่ตีตรา” และมี 6 ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน

“ไม่ติด” หมายถึงลดการติดเชื้อเอชไอวีใหม่ให้น้อยกว่าปีละ 1,000 ราย

ดำเนินการโดยยุทธศาสตร์ที่ 1 เร่งจัดบริการให้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งชุดบริการในกลุ่มเฉพาะ และการนำร่อง PrEP หรือการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีก่อนเกิดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นที่สำเร็จ และยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับคุณภาพและบูรณาการงานป้องกันให้เข้มแข็ง

ตรงตามคอนเซ็ปต์ “รู้เร็ว-รักษาได้”

“ไม่ตาย” หมายถึงลดอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ให้น้อยกว่าปีละ 4,000 ราย ดำเนินการโดยยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและเร่งรัดการรักษาดูแลและช่วยเหลือทางสังคมให้มีคุณภาพและยั่งยืน

“ไม่ตีตรา” หมายถึงลดการเลือกปฏิบัติจากเอดส์ 90% ปรับภาพลักษณ์ สร้างความเข้าใจ ตลอดจนการใช้กลไกการคุ้มครองสิทธิ ดำเนินการโดยยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับภาพลักษณ์ ความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือความร่วมรับผิดชอบหรือการมีส่วนร่วมทั้งการบริหารงานและการจัดการทรัพยากร ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 6 คือเรื่องข้อมูล

“โรงพยาบาลอย่างเดียวคงไม่สามารถทำงานเรื่องเอดส์ได้ คีย์สำคัญจึงอยู่ที่การมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน” พญ.เสาวนีย์ ระบุ

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

สอดคล้องกับ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้แทนศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ที่อภิปรายว่า ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะใช้แต่ค่าประมาณการ นั่นเพราะประเทศไทยยังไม่มีระบบข้อมูลว่าแท้จริงแล้วแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เท่าใดกันแน่

นอกจากนี้ หากต้องการจะยุติปัญหาเอดส์จริง จำเป็นต้องเตรียมระบบสำหรับรองรับความหลากหลายของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลอย่างเดียวด้วย

เธอ ชี้ประเด็นว่า อีกหนึ่งอุปสรรคการทำงานของประเทศไทยคืองบประมาณมักจำกัดอยู่ในภาครัฐ ส่วนภาคประชาสังคม-ชุมชนกลับไม่ค่อยได้รับ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ

“แต่การเข้ามาขององค์กรต่างประเทศนั้น คือเข้ามาสนับสนุนแล้วก็ขู่ว่าจะเลิกสนับสนุนแล้ว แล้วก็ยังสนับสนุนต่อไปอีก แล้วก็ขู่ว่าจะไปอีกอยู่อย่างนั้น ได้ทำร้ายวิธีคิดของประเทศไทย ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง คือต้องตอบให้ได้ว่าองค์กรชุมชนจะทำอย่างไรหรือทำงานต่อไปอย่างไรหากไม่มีต่างประเทศสนับสนุน” พญ.นิตยา ระบุ

สำหรับ PrEP เธอเสนอว่า ต้องทำให้สังคมเกิดความรู้สึกเหมือนเรื่องคุมกำเนิด คือเป็นค่านิยมที่ดี เป็นการใส่ใจดูแลตัวเอง และในอนาคตต้องคิดถึงการกระจายออกไปให้ทั่วถึงนอกโรงพยาบาล อาจไปอยู่ตามร้านขายยาหรือซื้อขายออนไลน์ได้หรือไม่

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายไว้สูงๆ คือ 100-100-100 และต้องทำให้เรื่องเอชไอวีเป็นเรื่องของทุกคน เช่น ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตั้งประเด็นว่า จำเป็นต้องสร้างช่องทางให้คนเล็กคนน้อย-คนที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลัก สามารถเข้าถึงการรักษาและยาต้านไวรัสด้วย เพราะคนกลุ่มนี้มีปัญหาเอชไอวีและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนของ PrEP ปัจจุบันเข้าถึงได้เฉพาะผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ฉะนั้นจำเป็นต้องคิดถึงการเข้าถึงของคนทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย เช่นเดียวกับการให้สิทธิประโยชน์ตรวจเอชไอวีที่ทุกสิทธิเข้าถึงได้ ที่สำคัญคือการเบิกจ่ายต้องมียุ่งยากและไม่สร้างภาระให้กับหน่วยบริการ

ข้อมูลและภาพจาก www.aidszeroportal.org/