ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอไพศาล เผย สธ.จัดทำข้อมูลเสนอ ก.พ. เพื่อประกอบการพิจารณาปมชมรมอดีต พนง.รัฐสาธารณสุขร้องความเป็นธรรม “นับอายุราชการ-ปรับเงินเดือน” มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นอำนาจของ ก.พ.โดยตรง ส่วนประเด็นเรื่องการนับอายุราชการ ได้รับคำตอบจากกรมบัญชีกลางว่า ตามกฎหมายการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ จะนับเฉพาะช่วงที่เป็นข้าราชการเท่านั้น

จากกรณีชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข และทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ช่วยเหลือ 2 ประเด็น คือ 1.ขอสิทธิประโยชน์ในการนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ หรือให้มีการเยียวยาให้กับพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงปัจจุบัน ในอัตราเทียบเท่าพนักงานมหาวิทยาลัย คือ อัตรา 1.5 เท่าของข้าราชการพลเรือนสามัญ และ 2.ขอให้มีการปรับแก้ไขเงินเดือน อัตราใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จากหลักเกณฑ์การเยียวยา ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1012.2/ 250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 นั้น

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ในกลุ่มข้าราชการที่ออกมาเรียกร้อง เดิมพวกเขาเป็นพนักงานของรัฐตั้งแต่ปี 2543 จนกระทั่งปี 2547 จึงปรับเป็นข้าราชการ ซึ่งมีประมาณ 24,000 คน ณ ขณะนั้น แต่ปัจจุบันมีการย้ายไปกระทรวงอื่นๆ บ้าง ลาออกบ้างเหลือจำนวน 23,000 คน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าใจปัญหาของบุคลากรในสังกัดดี และดำเนินการหาทางช่วยเหลือมาตลอด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทุกคนทุกวิชาชีพ

นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ประเด็นเงินเดือนเป็นเรื่องที่มีความหลากหลายพอสมควร จนมีการเปรียบเทียบกับข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการเยียวยามาก่อน โดยกลุ่มที่ได้รับการเยียวยามาก่อน เดิมเป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานราชการ ซึ่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ได้รับการปรับเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่ ก.พ. กำหนด ทำให้เงินที่ได้รับมีความแตกต่างกัน

“จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุขก็พยายามดูแลทั้งหมด แต่ที่สำคัญคือ อำนาจตรงนี้อยู่ที่ ก.พ.จะพิจารณา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลเสนอ ก.พ. เพื่อประกอบการพิจารณามาโดยตลอด เนื่องจากเป็นอำนาจของ ก.พ.โดยตรง ส่วนประเด็นเรื่องการนับอายุราชการนั้น ทางกระทรวงฯ ได้ส่งไปยัง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณา และได้คำตอบว่า การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ จะนับเฉพาะช่วงที่เป็นข้าราชการเท่านั้น เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่ง ข้าราชการทุกประเภทต้องถือปฏิบัติเหมือนกัน” นพ.ไพศาล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทางชมรมฯ ได้เรียกร้องเรื่องการนับอายุราชการตั้งแต่เป็นพนักงานของรัฐ ก่อนจะบรรจุเป็นข้าราชการด้วยนั้น เนื่องจากมองว่าสิทธิไม่แตกต่างน่าจะนับสิทธิเหมือนข้าราชการด้วย รองปลัด สธ. กล่าว ว่า คงต้องสอบถามทางกรมบัญชีกลาง แต่กฎก็มีอยู่ คือ เมื่อเป็นข้าราชการวันไหน ก็จะนับอายุราชการวันนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ากระทรวงฯ จะนิ่งนอนใจ เราก็ดูแลบุคลากรของเรา อย่างเรื่องนี้ก็มีการทำข้อมูล พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการประสานงาน และส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าราชการ สธ. เตรียมทวงถาม ก.พ. หลังแก้ปัญหา ‘เงินเดือนเหลื่อมล้ำ’ ไม่คืบหน้า