ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรมยืนยันสารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดที่จะสกัดได้ใน ก.ค.62 จำนวน 2,500 ขวดระยะแรก ใช้สำหรับผู้ป่วยในโครงการวิจัย 2 ประเภท ที่ร่วมกับกรมการแพทย์

นพ.โสภณ เฆมธน

นพ.โสภณ เฆมธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (ประธานบอร์ด อภ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์หรือเมดิคัลเกรดขององค์การเภสัชกรรม ที่จะสกัดได้ในเดือนกรกฎาคม 2562 จำนวน 2,500 ขวด ในระยะแรกนั้นผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาโดยผ่านโครงการศึกษาวิจัย 2 ประเภท ที่ร่วมมือกับกรมการแพทย์ คือ ประเภทที่ 1 เป็นการวิจัยตามโครงการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme หรือ SAS จะรักษาผู้ป่วยและเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป ในกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษาโดยมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ผู้ป่วยภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

ส่วนโครงการวิจัยประเภทที่ 2 เป็นการศึกษาวิจัยเชิงลึก ที่ต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งทางห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางพรีคลินิก และการวิจัยทางคลินิก กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่ต้องมีข้อมูลทางวิชาการเพิ่มในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายรวมทั้งกลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ เช่น การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยสามารถสมัครเข้าสู่โครงการวิจัยทั้ง 2 ประเภทนี้ ได้ที่กรมการแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาว่าผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดของโครงการ

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.จะทำการเก็บเกี่ยวดอกกัญชาตัวเมียและสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์หรือเมดิคัลเกรดได้ แบบหยดใต้ลิ้นชุดแรก ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด ซึ่งจะผลิต 3 สูตร คือ สูตรที่ 1 คือ THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 คือ CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 คือ สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1 โดยยึดหลักต้องปลอดภัย (Safety) ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด (Consistency) และต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy) เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยที่ร่วมมือกับกรมการแพทย์ 2 ประเภท ในข้างต้นต่อไป โดยในต้นปี 2563 องค์การฯเริ่มดำเนินการปลูกและผลิตสารสกัดกัญชาในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น อีกประมาณ 8 เท่า หรือประมาณ 80,000 ขวดต่อปี ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างการเข้าถึงผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยได้เพิ่มมากขึ้น