ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการ เผยผลประเมิน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ผลงานเด่นรัฐบาล 2 ปี สิทธิบัตรทองรักษาฉุกเฉินวิกฤต รพ.เอกชนมากสุด เดิมมีแต่ ขรก.เข้าถึง ปรับอัตราชดเชยสูงสุดเท่าที่ภาครัฐจ่าย ภาพรวมปัญหาระบบน้อยเกินคาด ด้าน “นายกสมาคม รพ.เอกชน” เสนอแยกตั้ง “กองทุน UCEP” ลดความเสี่ยง รพ.เอกชน บางกองทุนเบิกจ่ายล่าช้า

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ในงานเสวนา “2 ปี UCEP ไทย จะก้าวต่อไปอย่างไร : Next Step for UCEP” ในการประชุมเสวนาและรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงาน ตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ ยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) จัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ในฐานะนักวิชาการผู้ประเมินการดำเนินนโยบาย UCEP กล่าวว่า นโยบาย UCEP นับเป็นผลงานด้านสาธารณสุขที่โดดเด่นที่สุดของรัฐบาล แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นโครงการคาดการณ์ว่าจะต้องมีปัญหาเยอะมาก และหลายฝ่ายต่างมีความกังวล แต่จากดำเนินการแล้วและได้ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลบริการในปี 2560 พบว่า ก่อนมีโครงการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้าไม่ถึงบริการ รพ.เอกชน ส่วนใหญ่ที่เข้ารับบริการเอกชนได้มีเพียงสิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้น แต่หลังมีนโยบาย UCEP ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างที่ควรจะเป็น โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสิทธิบัตรทองมีสัดส่วนเข้ารับบริการใน รพ.เอกชนมากที่สุด ภาพรวมก้าวแรกของนโยบายนี้จึงดีแล้วและต้องชื่นชม รพ.เอกชนที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และไม่ปฏิเสธรับรักษาไม่ว่าจะเป็น รพ.ใหญ่หรือเล็ก

ในส่วนของการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ รพ.เอกชน จากข้อมูล 9 เดือนในปี 2560 พบว่ามียอดเรียกเก็บ 320 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายได้จำนวน 149 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 47 ของราคาเรียกเก็บ นับเป็นอัตราการชดเชยที่สูงสุดเท่ารัฐบาลเคยจ่ายมา โดยวิธีการจ่ายเป็นแบบเป็นการจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee Schedule) จากแต่เดิมเป็นการจ่ายแบบ DRG ที่ทำให้ รพ.เอกชนได้เงินน้อย ซึ่งที่มีการเบิกมากที่สุดคือค่ายา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมามียาหลายรายการไม่สามารถเบิกจ่ายได้เนื่องจากไม่สามารถใส่รหัสการเบิกจ่าย โดย รพ.เอกชนมีการใช้ยาต้นแบบหลายรายการที่ไม่มีในบัญชีเบิกจ่าย ปัญหานี้แก้ไขเพียงแต่ต้องมีต้นทุกราคายาดังกล่าว เพื่อที่จะได้เพิ่มเติมในรายการเบิกจ่ายได้ ขณะที่ปัญหาการใช้สิทธิ UCEP ข้ามเขต ณ จุดเกิดเหตุนั้น จากการประเมินพบปัญหานี้แต่ไม่มาก มีไม่เกินร้อยละ 10 เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยเพื่อพัฒนาร่วมกันต่อไป

“ภาพรวมนโยบาย UCEP เป็นประโยชน์กับประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ที่พบเป็นปัญหาเล็กน้อยในระบบที่ต้องช่วยกันแก้ไข ซึ่ง UCEP จะเดินไปข้างหน้าได้ ต้องเกิดความเป็นธรรม 3 ฝ่าย ทั้งกับประชาชน รพ.เอกชนในฐานะผู้ให้บริการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพที่เข้ามาดูแล”

ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า รพ.เอกชนยินดีร่วมปิดช่องว่างร่วมนโยบาย UCEP เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต แต่ยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง ทั้งในเรื่องนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่ต้องชัดเจน ไม่เช่นนั้นหลักการของนโยบายก็จะเคลื่อนออกไป ความเข้าใจของภาคประชาชน การเบิกจ่ายที่ยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายรายการที่ รพ.เบิกจ่ายไม่ได้ แม้ว่าวันนี้ สปสช.ทำหน้าที่ส่งรายการเบิกจ่ายให้กับแต่ละกองทุน แต่หากกองทุนนั้นไม่เบิกจ่ายจะทำอย่างไร รวมถึงการส่งกลับผู้ป่วยที่พ้นภาวะฉุกเฉิน 72 ชม.กลับไปยัง รพ.ต้นสังกัดตามสิทธิรักษาพยาบาล หาก รพ.ที่รับเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว เตียงเต็มจะทำอย่างไร ซึ่ง รพ.เอกชนได้เพียง 2-8% ปัญหาตรงนี้ต้องช่วยกัน นโยบายนี้เป็นโครงการที่ดี ต้องทำให้เป็นระบบพื้นฐานของประเทศ

“ที่พูดบ่อยคือการตั้งกองทุนเฉพาะ UCEP เพื่อปิดรูรั่ว นำมาดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและอุบัติเหตุ เราเคยเสนอเพื่อแนวทางนี้ เพราะตอนนี้ผ่านกองทุนนั่นนี่ ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า และ สปสช.เองก็ไม่สำรองจ่าย ดังนั้นจะต้องมีการออกแบบภาพใหญ่เพื่อทำให้ระบบยั่งยืนเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าว