ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ขณะที่การเจ็บป่วยทั่วๆไป หากเป็นการเจ็บป่วยระยะสั้นลาไม่ได้ แม้เป็นไข้หวัดยังต้องเดินฉีดยาอยู่เลย และในเวลารีบเร่ง เวลาจะล้างมือมีน้อยหรือไม่ล้างเลย รวมทั้งระยะของเตียงผู้ป่วยที่ชิดมาก แหล่งเชื้อโรคอยู่ในนี้หมด ดังนั้นถ้าพยาบาลเจ็บป่วยขึ้นมามักเจ็บป่วยอันตรายหรือมีอาการหนัก"

วันที่เร็วๆนี้ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จัดการประชุมสัมมนา "When health personnel get sick" ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ มีเรื่อง "เมื่อบุคลากรกลายเป็นผู้ป่วย : ประสบการณ์และปัญหา" โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์, นพ.วินัย วิริยกิจจา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายกสมาคมข้าราชการบำเหน็จบำนาญกระทรวงสาธารณสุข, น.ส.ปุญญิศา วัจฉละอนันท์ พยาบาลจากโรงพยาบาลโนนสูง จ.นครราชสีมา และ นพ.พีรพงษ์ กุนอก แพทย์จากโรงพยาบาลนาแก จ.นครพนม ร่วมอภิปรายในประเด็นนี้

นพ.วินัย วิริยกิจจา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวัยของข้าราชการบำนาญ เราใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น และในฐานะที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ก็มีความคาดหวังว่าเมื่อไหร่ที่เจ็บป่วยเราควรได้รับบริการที่ดี

"เราควรมีบริการในลักษณะของการป้องกัน ผมพากรรมการสมาคมไปหารือกับท่านปลัดกระทรวงฯ และอยากให้ท่านมีการสั่งการกระบวนการบริการสำหรับเพื่อนข้าราชการแบบเดียวกับโรงพยาบาลทรวงอก คือมีช่องบริการเฉพาะ ไม่ใช่ให้นั่งรอกับคนไข้ปกติ สิ่งเหล่านี้คือความคาดหวังว่าระบบบริการของกระทรวงจะดูแลเพื่อนข้าราชการผู้สูงอายุให้ได้บริการที่ดีและมีสุขภาพที่ดี" นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัยยังให้ข้อคิดอีกว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เงินทองไม่มีประโยชน์ถ้าสุขภาพไม่ดี ดังนั้นเราต้องรักษาสุขภาพ เมื่อไหร่ที่แก่ตัวไป ทำอะไรได้ต้องทำ เดินได้ต้องเดิน ขับรถได้ ออกกำลังกายได้ก็ต้องออกกำลัง อย่าหยุด ถ้าหยุดแล้วจะทำอีกไม่ได้

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เล่าถึงประการณ์เจ็บป่วยส่วนตัวที่เคยตกจากที่สูงประมาณ 5 เมตร ในวินาทีที่ร่วงหล่นนั้น คิดในใจว่าบาดเจ็บรุนแรงแน่นอน ซึ่งหลังจากตกลงมาแล้ว สิ่งที่ได้รับหลังจากนั้นเป็นเรื่องเชิงระบบ จากวินาทีที่ได้รับการดูแลเบื้องต้นจากทีม EMS ไปจนถึงโรงพยาบาลและส่งตัวกลับมารักษาในกรุงเทพฯ โดยส่วนตัวได้รับประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และอยู่ในระดับบริหารด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี อยากให้กำลังใจบุคลากรว่าถ้าเจ็บป่วยแล้วจะได้รับบริการที่ดีและเหมาะสม และในฐานะที่ตัวเองได้รับประสบการณ์แบบนี้มา ก็ต้องหันกลับมามองบุคลากร ตนลงไปมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรมากขึ้นและรับฟังเสียงต่างๆเพื่อนำกลับมาดูแลเท่าที่สามารถทำได้

ด้าน น.ส.ปุญญิศา วัจฉละอนันท์ โรงพยาบาลโนนสูง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของพยาบาลมี 2 กลุ่มและการเจ็บป่วยก็มี 2 แบบ กลุ่มแรกคือพยาบาลกลุ่มที่มีความเครียดสูง เช่น คนที่ปฏิบัติงานอยู่ในห้อง ICU, ER, LR, OR หรือ R ทั้งหลาย มีความเครียดจากภาระงานและการต้องทำงานแข่งกับเวลา ส่วนพยาบาลอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ใจดีที่สุดในโลก เช่น พยาบาลที่ดูทางด้านโรคเรื้อรัง การปรับพฤติกรรม กล่าวคือมีอะไรก็รับหมด จากการสำรวจของสหภาพพยาบาลพบว่ากว่า 80% ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพตามจริงทั้งหมดเพราะไม่มีเวลา และ 80% ก็ไม่ได้ออกกำลังกายเหมือนที่บอกคนไข้เพราะไม่มีเวลาเช่นกัน

"สหภาพพยาบาลเคยสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานว่าทำไมไม่อยากออกกำลังกาย เขาบอกว่าเหนื่อยแล้ว เครียด สิ่งแรกที่จะทำคือนอนไม่ใช่ออกกำลังกาย และถ้าให้ไปออกกำลังกาย พยาบาลที่ไม่ทำมากที่สุดคือพยาบาล ER และห้อง R ทั้งหลาย และยังพบว่าพยาบาลที่เจ็บป่วยเยอะที่สุดก็อยู่ที่ห้อง R เหมือนกัน" น.ส.ปุญญิศา กล่าว

ในส่วนของการเจ็บป่วยนั้นก็มี 2 แบบคือ การเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป ซึ่งในส่วนของอุบัติเหตุ รถ Refer มักชนกับต้นไม้และรถสิบล้อเสมอ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างกลับจาก Refer ทั้งนั้น เพราะตอนขาไปอะดรีนาลีนหลั่งทุกคนแม้กระทั่งคนขับรถ แต่พอขากลับจะรู้สึกผ่อนคลายกว่า และจุดที่เกิดอุบัติเหตุพบว่าคือจุดที่เดินทางเลยระยะทางประมาณครึ่งทาง กับใกล้จะถึงโรงพยาบาล และจุดที่เจ็บหนักมากที่สุดคือด้านซ้ายของคนขับซึ่งก็คือพยาบาลทั้งหมด

ขณะที่การเจ็บป่วยทั่วๆไป หากเป็นการเจ็บป่วยระยะสั้นลาไม่ได้ แม้เป็นไข้หวัดยังต้องเดินฉีดยาอยู่เลย และในเวลารีบเร่ง เวลาจะล้างมือมีน้อยหรือไม่ล้างเลย รวมทั้งระยะของเตียงผู้ป่วยที่ชิดมาก แหล่งเชื้อโรคอยู่ในนี้หมด ดังนั้นถ้าพยาบาลเจ็บป่วยขึ้นมามักเจ็บป่วยอันตรายหรือมีอาการหนัก

ด้าน นพ.พีรพงษ์ กุนอก โรงพยาบาลนาแก จ.นครพนม เล่าถึงเพื่อนแพทย์คนหนึ่งซึ่งเกิดอาการหลอดเลือดในสมองตีบที่ก้านสมอง ส่งผลให้ไม่สามารถขยับตัวได้ตั้งแต่ส่วนคอลงมา ทำได้แค่กรอกตาเท่านั้น ปัญหาคือลักษณะแบบนี้เป็นการเจ็บป่วยยาวนานและมีค่าใช้จ่ายในการรักษา ครอบครัวมีปัญหาในการดูแลระยะยาวทั้งเรื่องจิตใจ เรื่อง care giver และค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่เงินเดือนตามระเบียบก็จะได้รับไม่เกิน 3 เดือน เบื้องต้นทางกลุ่มเพื่อนๆพยายามช่วยเหลือด้วยการรวบรวมเงินช่วยเหลือเดือนละ 10,000 บาท และเนื่องจากกลายเป็นข่าว ทำให้มีผู้คนช่วยบริจาคด้วย มียอดรวมทั้งหมด 4 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างมากแต่เชื่อว่าในระยะยาวแล้วไม่พอ

"ผมมองว่าถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์น่าจะมีอะไรมาช่วยเหลือรองรับมากกว่านี้ เพราะพวกเราโดยเฉพาะที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนก็ไม่ได้มีฐานะอะไร ครอบครัวก็เป็นคนธรรมดา อาจเป็นกองทุนที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวก็ได้" นพ.พีรพงษ์ กล่าว