ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกาศคำมั่น “เข้าพรรษา” งดเหล้า เลิกเศร้าจาก “อุบัติเหตุ”

“ผมขอถือโอกาสนี้ขอให้พวกเราเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ขับเคลื่อนให้การลดเมาเพิ่มสุขไปสู่วิถีของชุมชนตนเอง ขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการดังนี้ ประการที่ 1 ใช้ความพยายามในการชักชวนผู้ที่ดื่มและขับขี่ไม่ปลอดภัยได้เลิกพฤติกรรมเสี่ยง ประการที่ 2 ขอให้แต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล รวมตัวกันเพื่อสร้างและดูแลเส้นทางในพื้นที่ของตนเองให้มีความปลอดภัย ประการที่ 3 เชิญชวนสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในการลดเมาเพิ่มสุขบนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของตนเอง ประการที่ 4 ขอให้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นร่วมกันกำหนดกฎ กติกา และข้อตกลงในชุมชนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และประการที่ 5 เชิญชวนองค์กรหลักในพื้นที่อันประกอบไปด้วย ท้องถิ่น ท้องที่ ส่วนราชการ ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายร่วมกันลดเมาเพิ่มสุขให้กับคนในชุมชนของตนเอง” นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ประกาศความมุ่งมั่นต่อหน้าสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นเข้ากว่า 400 คนจากกว่า 100 ตำบลในงานเวทีจัดการความรู้สุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น “1 ตำบล 100 คนงดเหล้า” ที่จัดขึ้นที่เมืองทองธานีเมื่อเร็วๆ นี้

นายสมพร ใช้บางยาง

คำประกาศดังกล่าวนี้ยังดังก้องไปยังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อีกกว่า 2,000 ตำบล เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความปลอดภัยในชีวิตจากการใช้รถและใช้ถนน ซึ่งนับว่าเป็นความรับผิดชอบของสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นต่อตนเอง ต่อครอบครัวและต่อชุมชน

ตลอดระยะเวลา 3 เดือน นับจากนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยได้ปวารณาตัวเอง ว่าจะงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตลอดเข้าพรรษานี้ แต่สำหรับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่แล้ว พวกเขามุ่งมั่นมากกว่านั้น

ด้วยเหตุที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ร่วมกันออกแบบรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "ลดเมา เพิ่มสุข" ประกอบด้วยกิจกรรม 4 สร้าง 1 พัฒนา คือ 1.สร้างคนต้นแบบทั้ง 3 ระดับ คือ ผู้นำชุมชน เยาวชน และครอบครัว 2.สร้างเส้นทางปลอดภัย 3.สร้างนวัตกรรมช่วยเลิกโดยชุมชน 4.การกำหนดมาตรการทางสังคมและการบังคับใช้กฎหมาย และอีก 1 พัฒนา คือพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

เมื่ออ้างอิงถึงผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าคนไทยมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง อย่างปี 2560 มีคนไทยร้อยละ 28.4 ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ลดลงจากปี 2558 ที่มีคนดื่มสูงถึงร้อยละ 34.0 เมื่อแบ่งตามเพศแล้ว ผู้ชายยังคงดื่มหนักคือร้อยละ 47.5 (ลดลงจากปี 2558 ที่ดื่มมากถึงร้อยละ 56.6) ขณะที่ผู้หญิงร้อยละ 10.6 (ลดลงจากปี 2558 ที่ดื่มร้อยละ 13.0)

ตัวเลขที่ลดลงนี้ น่าจะมาจากหลายภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ในส่วนของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่แล้ว ต้องการมากกว่าจำนวนที่ลดลง จึงได้กำหนดโจทย์เพิ่มขึ้น ว่า ผลจากการลดเหล้าจะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุได้มากน้อยเพียงใด ทางเครือข่ายฯ จึงร่วมกัน “งดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” ตลอดระยะเวลา 3 เดือนนี้

แนวทางการทำงานแบบ “4 สร้าง 1 พัฒนา” บวกการประกาศคำมุ่งมั่น คือสิ่งที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กำลังจะทำกันต่อไปอย่างเข้มข้น โดยที่ผ่านมานั้น ตำบลต้นแบบได้ “สร้าง” ชุมชนของพวกเขาให้เป็นชุมชนลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างได้ผล โดยเฉพาะการสร้างคนต้นแบบ

นายเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ

ที่ตำบลซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ผู้นำท้องถิ่นอย่าง นายเนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา บอกว่า การรณรงค์ต้องเริ่มที่ผู้นำก่อน โดยเฉพาะตัวเขาเองนั้น ต้องเลิกเหล้าให้ได้ ต่อมาได้ชวนผู้ใหญ่บ้าน 15 หมู่บ้านเลิกได้ทั้งหมด ก่อนจะต่อยอดไปยังสมาชิกอบต.อีก 14 คน ปรากฏว่าเลิกได้สำเร็จ 9 คน เหล่านี้เป็นคนต้นแบบที่ช่วยกันทำงานให้คนทั้งตำบลซับจำปาเลิกเหล้า

"การชวนคนเลิกเหล้า จะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าไม่เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน" นายกฯ เนตรนรินทร์ กล่าวอย่างเชื่อมั่น

นายไพสิษฐ์ กาบทอง

ขณะที่ตำบลพรหมนิมิต อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ก็มี นายไพสิษฐ์ กาบทอง กำนันตำบลพรหมนิมิตเป็นคนต้นแบบที่อบต.พรหมนิมิต ชวนมาทำงานรณรงค์เลิกเหล้า ซึ่งตัวกำนันไพสิษฐ์เองปัจจุบันเลิกดื่มอย่างสิ้นเชิงแล้ว และกำลังชักชวนลูกบ้านให้เลิกดื่มด้วย เพราะที่ผ่านมานั้น ทุกขนิสัยการดื่มของเขานับว่าโชกโชนทีเดียว โดยเฉพาะดื่มแล้วประสบอุบัติเหตุทางถนนถึง 8 ครั้ง เขาเองยอมรับว่าโชคดีที่รอดมาได้

"แต่มันไม่ใช่เคราะห์กรรม" กำนันไพสิษฐ์ ยืนยัน ก่อนจะให้เหตุผลที่แท้จริงว่า "ถ้าไม่ดื่มแล้วขับรถ อุบัติเหตุก็ไม่เกิดแน่นอน และจงระลึกเถอะว่า เหล้ามันทำลายคน"

นอกจากคนต้นแบบที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนแล้ว การสร้างนวัตกรรมช่วยเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับเป็นผลของการสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในชุมชนได้เป็นอย่างดี

อย่างที่ตำบลป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่ “ดื่มดุ” สุดแห่งหนึ่ง ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่คำ ต.ป่าสัก อย่าง นายสมภพ ไชยวงศ์ ได้ใช้กลไกสำคัญในหมู่บ้าน คือ อสม. มาเป็นผู้ขับเคลื่อน เขาเล่าวว่า อสม.เหล่านี้มีความตั้งใจสูงมากในการช่วยให้คนในชุมชนลดละเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาจะมีการชวนกันเลิกเหล้าอย่างจริงจัง หากนักดื่มรายใดอยากเข้าร่วม ทาง อสม.จะทำกระปุกออมสินไม้ไผ่ไปมอบให้ แล้วบอกว่าเอาค่าเหล้าที่เสียไปนั้น หยอดลงในกระปุก แล้วลองดูว่าพอผ่าน 3 เดือนไปแล้วจะเก็บได้เท่าไหร่ ปรากฏว่าหลายคนได้เปลี่ยนไป เลิกตลอดชีวิต เพราะเห็นคุณค่าของเงินที่เสียไปจากการดื่มเหล้าโดยเปล่าประโยชน์

นายสุรเสกข์ บุญฉิม

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ นายสุรเสกข์ บุญฉิม ปลัดเทศบาลตำบลนาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี เล่าว่า ประธานสภาเทศบาลตำบลนาข่า ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า สามารถเป็นตัวอย่างให้กับคนในชุมชนอย่างดี เพราะสามารถปฏิบัติการเก็บเงินค่าเหล้าตลอดเข้าพรรษาจนสามารถซื้อตู้เย็นใหม่ได้ 1 เครื่อง

เหล่านี้เป็นตัวอย่างพื้นที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรม “ลดเหล้า เพิ่มสุข” และกำลังร่วมกัน “งดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” ตลอดระยะเวลา 3 เดือนนี้ นับเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า สสส.อยากเห็นบรรยากาศการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นในชุมชน เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น ที่ผ่านมานั้นทางภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานกว่า 2,000 ตำบลทั่วประเทศ ต่างมีความมุ่งมั่น และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการช่วยเลิกขึ้นมามากมาย ดังนั้น สสส.จึงอยากจะสื่อสารกับสังคมได้รับทราบ ว่ายังมีชุมชนต้นแบบดีๆ แบบนี้อยู่ ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีได้

สำหรับสมมติฐานที่ว่า ถ้างดเหล้าเข้าพรรษา อุบัติเหตุก็จะลดลงด้วย นั้น ผอ.ดวงพร กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าหากเลิกดื่มเหล้าได้ อุบัติเหตุก็ไม่เกิด และถ้าจำกัดพื้นที่ไม่ให้คนกินเหล้าออกไปเพ่นพ่าน อุบัติเหตุก็จะลดลงด้วย อย่างเช่น ด่านครอบครัว ก็เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่คนในบ้านจะหาวิธีการไม่ให้คนเมาออกไปยังท้องถนน

“เราต้องทำให้เป็นวิถีของชุมชน เช่น ถ้าเราเป็นคนหมู่บ้านเอ เราต้องไม่เมานอกบ้านให้คนอื่นเห็น เราต้องไม่มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งเรื่องขยะ คนหมู่บ้านเอ จะต้องทิ้งขยะเรี่ยราดเด็ดขาดไม่ว่าจะไปที่ไหน” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าว และย้ำว่าดังนั้นการที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งได้ หากไม่ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ฝังเข้าไปในวิถีหรือไลฟ์สไตล์ การณรงค์นั้นๆ ก็จะไม่ยั่งยืน อย่างเรื่อง “งดเหล้าเข้าพรรษา” เป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่ไปไม่สุด ทำกันแค่ 3 เดือน แล้วอีก 9 เดือนที่เหลือจะทำอย่างไร การรณรงค์นี้จึงมุ่งไปที่คนที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ

ดังนั้น “งดเหล้าเข้าพรรษา ร่วมใจลดอุบัติเหตุ” จึงเป็นความท้าทายที่ต้องรอติดตามผล