ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพพยาบาลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรสาธารณสุขต่อการคงอยู่ในระบบราชการ พบว่ากลุ่มคนอายุ 51 ปีอยากลาออกมากที่สุด เหตุเบื่อหน่ายระบบการจัดการ และความก้าวหน้าตันอยู่แค่ชำนาญการ เตรียมเสนอโครงการเลื่อนไหลสู่ตำแหน่งระดับที่สูงขึ้นต่อที่ประชุมสหวิชาชีพ วันที่ 13 ส.ค. 2562 นี้

น.ส.ปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขต่อการคงอยู่ในระบบราชการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการนำเสนอโครงการเลื่อนไหลสู่ตำแหน่งระดับที่สูงขึ้นต่อที่ประชุมสหวิชาชีพในวันที่ 13 ส.ค. 2562 นี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประเด็น

น.ส.ปุญญิศา กล่าวว่า จากการสรุปข้อมูลเบื้องต้นพบว่าอายุเฉลี่ยของบุคลากรที่อยากลาออกคืออายุ 51 ปี สาเหตุที่อยากลาออกเพราะเบื่อหน่ายกับระบบการจัดการ รองลงมาคือความก้าวหน้า ซึ่งอายุในช่วงนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเชี่ยวชาญทั้งนั้น หากสูญเสียคนกลุ่มนี้ไปจากระบบ ภาระงานจะมากขึ้นและผลกระทบตกอยู่กับประชาชนแน่นอน

นอกจากนี้ยังสำรวจพบว่าบุคลากรสาธารณสุขมีปัญหาสุขภาพเยอะโดยเฉพาะโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน ยกตัวอย่างพยาบาลรุ่นอายุประมาณ 50 ปี ป่วยเป็นมะเร็งเยอะมากเพราะทำงานหนักและไม่ได้รับการดูแลสุขภาพ มีมากกว่า 3% ที่เกษียณแล้วยังไม่ทันใช้เงินก็เสียชีวิตไปก่อน

"จากปัญหาสุขภาพและความก้าวหน้าที่อยู่แค่ระดับชำนาญการ ก็ให้เขาตัดสินใจลาออก ถ้าเป็นแบบนี้รุ่นพี่ลาออกไปหมด ความชำนาญที่เขาสั่งสมมาก็ออกตามไปด้วย กว่าจะสร้างคนมาแต่ละคน บางคนเป็นระดับพยาบาลปฏิบัติการขั้นสูง ถึงเวลาปุ๊ปไม่ก้าวหน้าก็ลาออก แบบนี้น่าเสียดายและจำเป็นต้องทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อธำรงคนให้คงอยู่ในระบบ"

น.ส.ปุญญิศา กล่าวอีกว่า ในส่วนของแพทย์ที่ร่วมตอบแบบสอบถามนั้น พบว่ามีบางส่วนอยากลาออกด้วย เพราะแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่มีโอกาสทำซี 8 ซี 9 แต่เลือกไม่ทำเพราะมีข้อจำกัดต้องตีพิมพ์ผลงานในแหล่งตีพิมพ์ที่มีชื่อเสียงพอสมควร การตรวจผลงานก็เข้มข้น ซึ่งแพทย์ตามโรงพยาบาลชุมชนต้องดูแลคนไข้ ถ้าแบ่งเวลาไปทำวิจัยเขาบอกว่าไม่เอาดีกว่า

สำหรับข้อเสนอโครงการเลื่อนไหลสู่ตำแหน่งระดับที่สูงขึ้นที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสหวิชาชีพ วันที่ 13 กส.ค. 2562 นี้ เป็นข้อเสนอที่ครอบคลุมทุกวิชาชีพและวิธีทำผลงานที่ไม่เข้มงวดจนเกินไป โดยแบ่งเป็น 3 ปี แรกที่ 1. บุคลากรอายุ 57-60 ปี อย่างน้อยขอให้ได้ชำนาญการพิเศษ 1 ปีก่อนเกษียณ ปีที่ 2 บุคลากรกลุ่มอายุ 54-56 ปี และปีที่ 3 กลุ่มอายุ 52 ปี

"เราต้องการให้เลื่อนไหลเหมือนตำรวจและทหาร กระทรวงเรางานหนักที่สุดแล้วยังไม่เติบโต ไม่ก้าวหน้า อย่างครูมีนักเรียนไม่กี่คนก็ได้ชำนาญการพิเศษแล้ว แต่เราคนไข้วันละ 700-800 คน แล้วได้แค่นี้ ก็ทำให้เขารู้สึกว่าจะอยู่ทำไม ลูกก็โตแล้ว ครอบครัวก็พร้อมแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เหลือที่พอจะดึงให้อยู่ต่อได้คือความภาคภูมิใจในตัวเอง ได้ชำนาญการพิเศษเพื่อเป็นเกียรติ ก็พอจะดึงเอาไว้ในระบบได้บ้าง"น.ส.ปุญญิศา กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจแสดงความคิดเห็นต่อการคงอยู่ในระบบราชการกระทรวงสาธารณสุข ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่