ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลกำแพงเพชร นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว (PCC) โดยสามารถเปิด PCC ได้ครบทุกพื้นที่รับผิดชอบ ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ประชาชนลดระยะเวลาการรอคอยและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเมื่อต้นปีนี้ยังได้เปิดตัวโครงการ “No Walk-in OPD” เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการรักษาเบื้องต้นที่ PCC ก่อน หากมีอาการซับซ้อนต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่อยส่งต่อมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

นพ.ไพฑูรย์ อ่อนเกตุ รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวถึง การดำเนินงาน PCC ของโรงพยาบาลว่า โรงพยาบาลกำแพงเพชรเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 410 เตียง อัตราการครองเตียง 100-105% ในพื้นที่รับผิดชอบมีโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 29 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลอีก 3 แห่ง

การเปิดบริการ PCC ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการชักชวนแพทย์เกษียณแล้วจำนวน 5 ท่านมาร่วมทีม รวมทั้งมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทยอยเรียนจบออกมาเสริม จนปัจจุบันสามารถเปิด PCC ได้เต็มพื้นที่ของอำเภอเมือง รวมทั้งหมด 16 ทีม ทำให้คนไข้สามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่ต้องมาแออัดที่ใดที่หนึ่ง

นพ.ไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า แนวคิดการจัดบริการ PCC ของโรงพยาบาลจะเน้นการจัดบริการเชิงบวก เพราะคนไทยคุ้นชินกับการเดินไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ไม่สามารถบังคับให้มารับบริการแบบต่างประเทศได้ เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลมองว่าถ้าจะให้คนไข้มาใช้บริการที่ PCC ตัว PCC ต้องเทียบเท่าหรือดีกว่าโรงพยาบาล คนไข้มา PCC ต้องได้เปรียบ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการจัดบริการให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล

นพ.ไพฑูรย์ ขยายความคำว่ามาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาล เช่น เรื่องการบริหารจัดการระบบยาเวชภัณฑ์จะมีบัญชีเดียว ไม่ได้แยกเป็นบัญชีโรงพยาบาลกับบัญชี รพ.สต. ส่วนยาที่มีมูลค่าสูงสำหรับคนไข้ที่ถูกส่งตัวกลับมาจากโรงพยาบาลก็จะมาร์กเป็นรายๆไป คนไข้ก็สามารถเดินมารับยาแล้วกลับบ้าน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ยังตัดกระบวนการเบิกยาของ รพ.สต. เพราะรู้สึกว่าเป็นภาระที่ต้องทำเรื่องเบิก รออนุมัติ ดังนั้นโรงพยาบาลจะเติมยาให้เต็มสเกลไว้ก่อน เมื่อใช้ไปเท่าไหร่แล้วค่อยเติมเพิ่ม ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องเบิกจ่ายยา

นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการแล็บ รถออกไปส่งยาแล้วจะเก็บแล็บกลับมาด้วย การที่แพทย์ลงไปอยู่ PCC แล้ว ถ้าทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็เป็นการสูญเสียทรัพยากร เพราะฉะนั้นเมื่อเก็บแล็บมาแล้ว ห้องแล็บตรวจเสร็จทาง PCC ก็สามารถรู้ผลทางอินเทอร์เน็ตได้เลย ขณะเดียวกันในส่วนของการเอกซเรย์ โรงพยาบาลมีเครื่องเอกซเรย์เก่าที่นำมาไว้ที่ PCC เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เอกซเรย์ให้หน่วยบริการเครือข่าย คนไข้ก็สะดวก ไม่ต้องไปเอกซเรย์ถึงโรงพยาบาล

ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ช่วงเช้าแพทย์จะให้บริการที่ PCC แล้วลงไปในชุมชนในช่วงบ่าย โดยดูตามความเหมาะสมว่าเคสไหนให้ใครไป เคสไหนให้ทีมใหญ่ไป คนไข้ก็จะรู้ว่าถ้าฉุกเฉินก็ไปที่โรงพยาบาลเลยแต่ถ้าไม่ฉุกเฉินก็มาในช่วงเช้า

"ส่วนระบบส่งต่อ เราจะถามคนไข้ว่าสะดวกวันไหน เราจะนัดหมอไว้ให้ ก็จะเป็นการลดความแออัด โรงพยาบาลก็สามารถคุม OPD ไม่ให้ล้นเกินไป และจะมี Green Channel คนไข้ไปถึงก็ไปที่ช่องนี้ได้เลย มีพยาบาลดูแลพาไปห้องตรวจเลยไม่ต้องไปผ่านที่อื่น นี่เป็นข้อได้เปรียบ ทำให้คนไข้รู้สึกว่ามาที่ PCC ก่อนแล้วมีคนมาดูแล แต่ถ้าไปโรงพยาบาลเลยต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 40 นาที แต่ถ้าผ่าน PCC ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที" นพ.ไพฑูรย์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีระบบการส่งข้อมูลจากโรงพยาบาลกลับสู่ชุมชนเพื่อให้มีการดูแลต่อเนื่อง ตั้งแต่บ้านถึงโรงพยาบาล โรงพยาบาลกลับถึงบ้าน มีการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ โดยปัจจุบันมี PCC 3 คลัสเตอร์ที่มีเภสัชกรประจำ ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการใช้ยาไปได้เยอะรวมทั้งทำงานเชิงรุก ตรวจร้านขายยา ร้านขายของชำและทำงานร่วมกับชุมชน และสุดท้ายคือ PCC จะคืนข้อมูลให้ชุมชน เพื่อให้ชุมชนทราบปัญหาและทำงานร่วมกัน

"ผลการดำเนินงาน เดิมทีโรงพยาบาลมีผู้ป่วย Walk in ประมาณ 51% ปัจจุบันลดเหลือ 31% คนไข้ที่ไปโรงพยาบาลลดลง นอกจากนี้การที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงมาอยู่ในพื้นที่ ทำให้การจัดการเรื่อง RDU ดีขึ้น ระบบสุขภาพโดยรวมดีขึ้น คนไข้ได้รับการดูแลที่ดี แพทย์เฉพาะทางก็มีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้น ลดระยะเวลารอคอย ลดความแออัดในโรงพยาบาล และที่เราคาดหวังไว้คือเมื่อคนไข้มีปฏิสัมพันธ์กับแพทย์ในชุมชนจะทำให้เกิด Health Literacy เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพ เพื่อลดความเจ็บป่วยในระยะยาว"นพ.ไพฑูรย์ กล่าว