ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รมว.สาธารณสุข’ ลุกขึ้นอภิปราย ที่ประชุมรัฐสภา เล็งบรรจุแพทย์จบใหม่ใน รพ.สต. ระบุทุก รพ.สต.ต้องมีหมอและพยาบาลให้บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ ลดภาระหมอ และโรงพยาบาลในตัวเมือง ที่วันนี้มีความรับผิดชอบล้นมือ เตรียมเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. 2,500-10,000บาท พร้อมพัฒนาความสามารถ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ที่หอประชุมทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังจากที่มีการอภิปรายถึงนโยบายระบบสาธารณสุขไทยว่า ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนพร้อมกับ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เราทั้งสองคนมีความเห็นตรงกันว่า ต้องเพิ่มคุณภาพการให้บริการของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ไทยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบาล (รพ.สต.) ประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในคำจำกัดความของตนเองนั้น โรงพยาบาลต้องมีแพทย์ ต้องมีพยาบาล ไม่ใช่มีเพียงเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่นั้น

ด้วยเหตุนี้ การยกระดับจากสถานีอนามัยเป็น รพ.แม้จะมีสภาพเหมือนสถานีอนามัย แต่ต้องยกระดับให้เป็นเหมือนคลินิก ซึ่งการมี รพ.สต.จะทำให้เพิ่มแพทย์จบใหม่มาประจำอยู่ตามสถานที่แห่งนั้นได้ เพื่อช่วยลดภาระของประชาชนในการเข้ารับการบริการตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น รพ.ชุมชน, รพ.อำเภอ หรือ รพ.จังหวัด ซึ่งจะทำให้ปัญหาความแออัดของผู้ป่วยใน รพ.ต่าง ๆ ลดน้อยลง รวมถึงภาระของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการยกระดับและเพิ่มผลตอบแทนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการให้บริการทางด้านสุขภาพกับประชาชนนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่เพิ่มศักยภาพ ประสบการณ์ ความชำนาญ และความรู้ให้ อสม.เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องยุติธรรม ถ้าทำงานเพิ่มมากขึ้น ให้บริการประชาชนมากขึ้น ให้บริการบำบัดรักษาขั้นปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการสมควรต้องดูแลผลตอบแทนให้แก่ อสม.ตามความสามารถแต่ละคน

ทั้งนี้ การเพิ่มผลตอบแทนนั้น เป็นไปตามความชำนาญความสามารถแต่ละคน ซึ่งตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทย มีค่าตอบแทนตั้งแต่ 2,500 - 10,000 บาท เป้าหมายให้ อสม.เป็นส่วนเติมเต็มระบบสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลอีกทางหนึ่ง

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้คือเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เมื่อเราสนับสนุนให้ใช้สาร CBD(Cannabidiol) และ THC (Tetrahydrocannabinol) จากกัญชาและกัญชงได้แล้ว มั่นใจว่าจะลดผู้ป่วยที่ไปใช้บริการจากทางภาครัฐ และการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชายังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนรวมไปถึงภาครัฐที่เคยซื้อยาในราคาแพง เชื่อว่ารัฐบาล จะทำนโยบายเหล่านี้ จนได้ผลเป็นรูปธรรม