ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.จับมือ สบส ลุยสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากอุบัติเหตุรถยนต์ พบกรณีที่เป็นข่าวนี้เข้าข่ายตามสิทธิ UCEP ทุกประการ “หมอสัญชัย” ระบุเบื้องต้นต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและยังไม่ด่วนสรุปผิดถูกจนกว่าจะได้ข้อมูลครบและหากพบโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นข่าวปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยจริง มีความผิดถึงขั้นจำคุกและปรับรวมถึงเพิกถอนใบอนุญาต

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าว รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและให้เหตุผลกับญาติผู้ป่วยว่าจะต้องวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จึงจะทำการรักษาให้นั้นว่า

ก่อนที่จะพูดถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ตนอยากชี้แจงให้ประชาชนทุกคนเข้าใจตรงกันกันก่อนว่านโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) นั้นผู้ป่วยที่จะสามารถเข้าข่ายในการใช้สิทธิ์ UCEP จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มีอาการเกิดขึ้นกะทันหัน ยกตัวอย่างเช่น การเกิดอุบัติทางถนน, เส้นเลือดในสมองตีบ, มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต, มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก,หรือตกต้นไม้แขนขาหัก, จมน้ำ, หรือถูกงูพิษกัด แต่ไม่ใช่โรคที่เป็นมานานอย่างโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันเรื้อรัง

ซึ่งกรณีที่ปรากฏตามข่าวนั้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งทีมสอบสวนและได้ลงไปเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลที่เกิดกรณีดังกล่าว ซึ่งพบข้อมูลว่าผู้ป่วยในกรณีนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เข้าตามเกณฑ์ของ UCEP ทุกประการ ซึ่งความหมายในเบื้องต้นคือผู้ป่วยสามารถไปใช้บริการยังโรงพยาบาลที่ใกล้สุดภายใน 72 ชั่วโมงได้ฟรี

สำหรับในส่วนที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลว่าโรงพยาบาลได้เรียกเก็บเงินจำนวน 100,000 บาท ก่อนที่จะทำการรักษาผู้ป่วย และเมื่อญาติไม่สามารถหาเงินมาได้โรงพยาบาลก็ไม่ทำการรักษาผู้ป่วย ซึ่งในประเด็นนี้รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า ตามขั้นตอนของการรักษาของโรงพยาบาลทุกแห่งนั้นหากมีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ามายังโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะต้องทำการคัดแยกแล้วดูว่าอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยนั้นมีความรุนแรงที่จะเข้าเกณฑ์ของ UCEP หรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ก็สามารถเข้ารับการรักษาโดยที่ไม่ต้องสำรองจ่ายได้ภายใน 72 ชั่วโมง แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ของ UCEP ก็สามารถนำใบคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินไปใช้เบิกในส่วนของกองทุนอื่นๆที่ผู้ป่วยมีสิทธิอยู่ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือกองทุนของข้าราชการได้อีกด้วย ไม่ใช่ว่าหากเข้าไปทำการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดแล้วจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้ป่วยสามารถนำใบคัดแยกอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินไปเบิกต่อยังกองทุนต่างๆเหล่านี้ได้

นพ.สัญชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้อีกว่า อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดขึ้นนี้สิ่งที่เราต้องเข้าไปดูคือเมื่อเข้าไปแล้วทำไมผู้ป่วยถึงไม่ได้ใช้สิทธิ UCEP ก็มีประเด็นอยู่ที่ว่าโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาหรือไม่ หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือหนักเกินกว่าศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรักษาได้ ขึ้นอยู่กับการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลและญาติผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตมากและมีอาการโคม่า ส่วนการเข้าไปแล้วโรงพยาลไม่ทำการรักษาและปฏิเสธการรักษาหรือไม่ หรือเป็นเรื่องศักยภาพของโรงพยาบาลมีความสามารถในการรักษากรณีนี้หรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม

“การที่เราจะไปบอกว่าโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาหรือไม่ปฏิเสธการรักษานั้น ก็อาจจะเร็วไปในแง่ของการพิสูจน์ความจริง ซึ่งเรื่องนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนของการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่าโรงพยาบาลไม่พร้อมรักษาผู้ป่วย แต่รับเอาผู้ป่วยมาไว้ให้เสียเวลาและผู้ป่วยแย่ลงไปอีก ก็ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม หรือเห็นว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามสิทธิ UCEP เข้ามาแล้วไม่รับดีกว่าเพราะกลัวว่าจะเป็นภาระของโรงพยาบาลนั้น ในส่วนนี้เราก็จะต้องดำเนินการว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย”

ซึ่งนโยบาย UCEP นั้นเป็นกฎหมายที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลปี พ.ศ. 2541 ถ้าสอบสวนสถานพยาบาลแล้วพบว่ามีความผิดในการปฏิเสธสิทธิผู้ป่วย UCEP นั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งสามารถเกี่ยวข้องกับการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานพยาบาลได้เนื่องจากไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 อีกด้วย แพทย์พยาบาลที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมาพิจารณามาตรฐานทางจริยธรรมและการปฏิบัติทางเวชกรรมโดยแพทยสภาหรือสภาการพยาบาลของตนเอง

รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สพฉ.และ สบส.ได้ตั้งทีมขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ตอนนี้เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและยังเร็วเกินไปที่เราจะสรุปว่าใครผิดหรือใครถูก ต้องรอข้อมูลจากหลายฝ่ายก่อนจึงสามารถสรุปได้ ทั้งจากหน่วยรับแจ้งเหตุ 1669 รถพยาบาลที่ออกไปรับผู้ป่วย โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยต้องใช้เวลาสักระยะ

นพ.สัญชัย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในนโยบาย UCEP เพราะการเกิดขึ้นของนโยบายนี้ก็เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและต้องการช่วยชีวิตของประชาชนให้รอดพ้นจากอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย UCEP นั้นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะมีกองทุนตามสิทธิการรักษารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤต แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง เริ่มนโยบายนี้มาตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 จนถึงปัจจุบันมีผู้เข้าเกณฑ์แล้วมากกว่า 48,000 ราย เฉลี่ยประมาณ 2,300 ต่อเดือนที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้าเกณฑ์ของการใช้สิทธิ UCEP จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ อาทิ

1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้โดยการประเมินของแพทย์

และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อมายังศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส. สพฉ.) หมายเลข 02-872-1669 ได้ตลอด 24 ชม.