ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

3 องค์กรชวนประชาชนตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ “บี-ซี” ฟรี 79 รพ.ทั่วประเทศ วันที่ 5-9 ส.ค.นี้ หลังพบผู้ป่วยไวรัสบีกว่า 5 แสนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกับ รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี ผู้แทนสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และ นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2562 คำขวัญ คือ “Eliminate Hepatitis B & C” หรือ “กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี” ระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2562 บริการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ที่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 79 แห่ง

นพ.ปรีชา กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 257 ล้านคน และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 71 ล้านคน สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านคน โดยพบมากในประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตั้งแต่ปี 2535 ทำให้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลดลงจากอดีตมาก ในปี 2559 คาดว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 3,800 คน และคาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จำนวน 356,670 คน ซึ่งพบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด

“สำหรับสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2562 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2562 ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 79 แห่ง (รายชื่อ 79 รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฯ http://bit.ly/2LHJMM9 หรือสามารถสอบถามรายชื่อโรงพยาบาลที่เข้าร่วมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422) อย่างไรก็ตาม หากผ่านพ้นช่วงรณรงค์การตรวจคัดกรองฟรีแล้ว ในกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีก็ยังสามารถเข้าตรวจได้ คือ กลุ่มที่มีประวัติเคยติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น และกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ส่วนไวรัสตับอักเสบบี มีบริการตรวจในมารดาและฉีดวัคซีนในทารกแรกเกิดแล้ว แต่ทั้งหมดหากพบการติดเชื้อสามารถเข้าสู่การรักษาตามสิทธิรักษาได้” นพ.ปรีชา กล่าว

รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นปัญหาสำคัญของโลก โดยในปี 2558 พบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 7 ของทั่วโลก สำหรับอุบัติการณ์ในประเทศไทยพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังประมาณร้อยละ 3 หรือประมาณ 2 ล้านคน และพบว่าประมาณร้อยละ 25 ป่วยหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 500,000 คน ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังพบประมาณร้อยละ 0.39 หรือประมาณ 265,000 คน

“ปัญหาของการติดเชื้อไวรัสอักเสบซี พบว่าครึ่งหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งตับ อีกครึ่งหนึ่งมีภาวะตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเกือบทั้งหมดตับจะค่อยๆเสื่อมลงเรื่อยๆ โดยจะกลายเป็นตับแข็ง 1 ใน 3 กินเวลาประมาณ 20 ปี ที่เหลือก็ค่อยๆเสื่อม และเสี่ยงเป็นมะเร็งตับ ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องตรวจคัดกรองเพื่อให้พบโรคให้เร็วที่สุด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบซีคือ กลุ่มเคยติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น กลุ่มชายรักชาย และกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ส่วนไวรัสตับอักเสบบีจะพบมากจากมารดาไปสู่ลูก แต่ไม่ใช่ว่าติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ แต่เป็นการติดเชื้อขณะคลอดเกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลุ่มนี้หากติดก็จะเป็นกลุ่มติดเชื้อเรื้อรัง แต่หลังจากปี 2535 เรามียาให้แม่ มีวัคซีนป้องงกันในทารก ทำให้อุบัติการณ์พบเชื้อลดลง ดังนั้น ที่จะพบโรคได้ก็จะเป็นกลุ่มที่เกิดก่อนพ.ศ.2535 ซึ่งต้องมาตรวจคัดกรองโรค” รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการรักษานั้น ปัจจุบันสมาคมตับแห่งประเทศร่วมกับกรมควบคุมโรคจัดทำแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเปลี่ยนจากการรักษาไวรัสตับอักเสบซี จากยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และลดขั้นตอนการตรวจยืนยันโดยยกเลิกการตรวจยืนยันด้วย Fibroscan เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างง่ายๆที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ สมาคมตับแห่งประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดสิทธิบัตรยาในเรื่องของตับ โดยได้ผลักดันยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบให้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ ยา Sofosbuvir และ Veltaspavir ได้รับการบรรจุเข้าสู่สิทธิบัตรยาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ในชื่อ Myhep All ทำให้สามารถรักษาได้ในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทุกคน และใช้เวลาเพียง 12 สัปดาห์ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

ด้านน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์เพื่อการรักษาและป้องกันภาวะตับอักเสบนั้น ในส่วนของไวรัสตับอับเสบบี ได้แก่ การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ โดยจะคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาพยาบาล กรณีที่ตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษาตามสิทธิ และการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ให้กับเด็กเป็นไปตามแนวทางการให้วัคซีนของประเทศ

ส่วนสิทธิประโยชน์ไวรัสตับอักเสบบีในกลุ่มผู้ใหญ่ จะครอบคลุมในส่วนของการรักษา ซึ่งในอดีตมีค่ารักษาที่แพงมาก แต่ด้วยการพัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันค่ารักษาลดลง โดยเฉพาะค่ายา ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเพียงวันละ 1 เม็ด ในการควบคุมจำนวนเชื้อไวรัส เพื่อไม่ให้ภาวะโรคลุกลามจนเป็นมะเร็งตับและตับแข็ง

นพ.รัฐพล กล่าวว่า ขณะที่สิทธิประโยชน์ไวรัสตับอักเสบซีนั้น สิทธิประโยชน์จะครอบคลุมเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ใช้ยาเสพติด โดยกรณีการเข้ารับบริการคัดกรองเชื้อเอชไอวีจะได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบซีด้วย ซึ่งหากพบเชื้อจะมีการตรวจวินิจฉัยยืนยันเพิ่มเติมและเข้าสู่กระบวนการรักษาภายใต้สิทธิประโยชน์ต่อไป