ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เตือนภัยกลุ่มดื่มหนักหักดิบต้องพบแพทย์ ได้รับคำปรึกษาที่ถูกวิธี และอาจใช้ยาลดอาการถอนร่วม ชี้ต้องดูแลใกล้ชิด คนรอบข้างเฝ้าสังเกตอาการ อย่าปล่อยให้โดดเดี่ยว ครอบครัว เพื่อนฝูง เป็นกำลังใจสร้างสิ่งแวดล้อมผ่อนคลาย ลดความกดดัน เย้ยหยัน ปลุกใจ “หากพลาด เริ่มใหม่ได้ ตั้งมั่นแต่อย่าหลอกตัวเอง”

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา “หักดิบ งดเหล้าอย่างไรไม่ให้เสี่ยง” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า การรณรงค์งดเหล้าในเทศกาลเข้าพรรษา มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีเครือข่ายงดเหล้ากระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย มีอาสาสมัคร มีแกนนำเข้ามาร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน ช่วยกันเป็นกำลังใจให้คนที่ตั้งใจ ลด ละ เลิก ดื่มในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาให้สำเร็จ ซึ่งบทบาทของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง คนในชุมชน จะเป็นแรงสำคัญให้งานงดเหล้า 3 เดือนเดินหน้าต่อไปได้อย่างมาก

หัวใจสำคัญของเครือข่ายคนทำงานคือ เราต้องไม่มองว่าคนติดเหล้าเป็นคนไม่ดี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เข้าใจเงื่อนไขที่แตกต่างกันและมีท่วงทำนองที่เป็นมิตร ทำงานด้วยความจริงใจและอดทน บางรายอาจจะกลับไปกลับมาซึ่งก็ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามการเลือกวิธีการหักดิบก็อาจไม่ใช่หนทางที่ประสบความสำเร็จเสมอไป โดยเฉพาะในรายที่ติดเหล้า ควรควบคู่กับการดูแลจากแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัย หรือถ้าไม่สะดวกเดินทางไปสถานพยาบาล ก็สามารถโทรปรึกษาผ่านสายด่วนศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา โดยโทรไปที่สายด่วน 1413
ด้าน นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างปลอดภัยด้วยตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ ซึ่งควบคุมการดื่มของตนเองไม่ได้ แม้จะเกิดผลเสียจากการดื่มตามมามากมายแล้วก็ตาม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่หากทำการงดเหล้าเข้าพรรษาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์แล้วอาจเกิดอันตรายได้ ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์นั้น มักจะเป็นผู้ที่ดื่มเป็นประจำทุกวัน ดื่มหนัก และดื่มนานเป็นปีๆ ซึ่งอาการอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ การติดสารทางกาย ได้แก่ การที่ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฤทธิ์เมาเท่าเดิม และเมื่อหยุดดื่มกะทันหันก็จะเกิดอาการถอนแอลกอฮอล์

ซึ่งอาการนี้มักจะเริ่มตั้งแต่วันแรกของการหยุดดื่ม ได้แก่ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน โดยในวันที่สอง บางรายอาจมีอาการชักเกร็งกระตุกและหมดสติได้ ซึ่งหากอาการเป็นมากโดยไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะสับสนร่วมกับอาการถอนแอลกอฮอล์ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายที่อันตรายมาก
“โดยทั่วไป ผู้ที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์แล้วต้องการหยุดดื่ม แพทย์มักจะให้ยาช่วยลดอาการถอน และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดแอลกอฮอล์กะทันหัน ดังนั้น หากท่านมีภาวะติดแอลกอฮอล์และตั้งใจหยุดดื่มในช่วงเทศกาลนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดดื่มกะทันหัน และสามารถหยุดดื่มได้อย่างปลอดภัยตลอดช่วงเทศกาลและตลอดไป ทั้งนี้ขอฝากเตือนไปถึงคนรอบข้างให้สังเกตอาการและเฝ้าระวัง ไม่ทิ้งให้คนติดเหล้า หักดิบ อยู่คนเดียว เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะไม่มีคนช่วยเหลือ และที่สำคัญต้องให้กำลังใจมากกว่าจะซ้ำเติม ท้าทาย หรือเย้ยหยัน” นพ.ธีรยุทธ ระบุ

ด้าน นายจำนง วงศ์สอน แกนนำชุมชนซอยสีคาม เขตดุสิต ผู้ที่งดเหล้าเข้าพรรษา ผันตัวมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาคนในชุมชนเพื่อช่วยให้เลิกเหล้า กล่าวว่า เคสในชุมชนส่วนใหญ่หยุดเพราะมีปัญหาสุขภาพ ตลอดจนสร้างปัญหาในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ทะเลาะวิวาท จนทำให้เขาอยากหยุดดื่มเหล้า หรือเข้าร่วมลดละเลิกในช่วงเข้าพรรษาโดยวิธีการทำงาน ต้องอาศัยการพูดคุย การสร้างความเข้าใจ ไว้วางใจ รวมทั้งยกตัวอย่างคนใกล้ตัวในชุมชนที่เขาอยู่ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น เคสสำคัญที่ต้องเสียชีวิตรายหนึ่งจากการหักดิบงดเหล้าเมื่อ 4 ปีก่อน เนื่องจากเขานักดื่มหนักและดื่มเหล้าขาวและหยุดเหล้าอย่างไม่ถูกวิธี หยุดกะทันหันทำให้น็อคจนเสียชีวิต ซึ่งละเลยที่จะพบแพทย์ในระหว่างที่หักดิบ เราจะหยิบยกเคสสำคัญนี้พูดคุยบอกกล่าวกัน ชักชวน เช่น อาจจะเริ่มจาก 15 วันก็ได้ เริ่มแรกไม่ต้องถึง 3 เดือนก็ได้ ซึ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวของผู้ดื่มที่ต้องการลดละเลิก ครอบครัว เพื่อนฝูง ต้องคอยช่วยกันดูแลกระตุ้น แต่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนจนกดดันตัวเองมากเกินไป ค่อยๆลด

“หนึ่งในสิ่งที่เราให้คำปรึกษาคือ การเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่เดือนก่อนเข้าพรรษาให้เขาเตรียมตัว เตรียมใจ ไม่ได้ขู่ให้หยุด หักดิบเลย หรือไปท้าทาย โดยเราเตรียมความพร้อมด้วยการจัดเวทีให้ความรู้ควบคู่ไปด้วยและมีกระบวนการกลุ่ม ร่วมกันทำขยายไปถึงคนในครอบครัว ใช้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จูงใจ โน้มน้าวใจ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเคสแต่ละคนมีระดับปริมาณการดื่มเหล้าที่แตกต่างกันออกไป เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ประวัติของเขา รวมทั้งการสร้างบรรยากาศในครอบครัวก็เป็นส่วนช่วยสำคัญ ไม่ใช่มาคุ ชวนทะเลาะ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดจนกลับไปหาเหล้าอีกในระหว่างนั้น บางเคสเขาทำไม่ได้ตามกำหนด ก็ไม่ควรไปต่อว่า กดดัน เหยียดหยันเขา แต่ต้องให้เวลาเขา ให้กำลังใจกันตลอด ไม่ใช่ให้เขาสู้ลำพัง หรืออยู่โดนเดี่ยวคนเดียว” นายจำนง กล่าว

ขณะที่ น.ส.ระวิวรรณ ว่องนราธิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับตัวเองนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นผู้ดื่มหนักหรือติดสุรา อยู่ในกลุ่มกินดื่มเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ยังไม่ถึงขั้นติด ทั้งนี้มีจุดสำคัญที่ตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะงดเหล้าเข้าพรรษา นั้นคือเมื่อประมาณ 7 ปี ที่แล้วตนได้ประสบอุบัติเหตุเมาแล้วขับแต่ก็สามารถรอดชีวิตมาได้ จากเหตุการณ์นั้นจึงตั้งปฏิญาณว่าจะใช้เวลาในช่วง 3 เดือนหยุดเหล้าให้ได้ในแต่ละปี ซึ่งขณะนี้ตนเองก็ทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ด้วยความตั้งใจสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การทำให้ร่างกายได้หยุดพัก

“ในช่วงที่งดเหล้า เราก็ไปสังสรรค์ตามปกติแต่เราไม่แตะเหล้าเลย เลือกที่จะกินน้ำเปล่า ที่สำคัญคิดว่าดีต่อร่างกายของเราที่ดื่มมา 7 ถึง 8 เดือน แล้วได้เว้นระยะ 3 เดือนเต็ม ให้ตับให้ร่างกายได้พักเพื่อดูแลตัวเอง ได้พักฟื้นร่างกาย เพื่อนๆจะรู้กันว่าในช่วงนี้เราจะไม่ดื่มเลยเขาจะเข้าใจและไม่เซ้าซี้ อยากจะขอเป็นกำลังใจให้คนที่มีความคิดตั้งใจจะลดละเลิก หากทำแล้วหยุดไม่ครบ 3 เดือน ก็ให้เริ่มใหม่ไม่ต้องกดดันตัวเองหรือท้อแท้ เราเริ่มใหม่ได้ แต่ต้องไม่หลอกตัวเอง ปีหน้าเริ่มใหม่จนกว่าจะสามารถลดได้เต็มทั้ง 3เดือนจนกว่าจะออกพรรษาได้สำเร็จ และเมื่อครบพรรษาก็ไม่ควรดื่มฉลองเมาแบบเอาเป็นเอาตาย อันนี้จะยิ่งเสี่ยงอันตรายไปกันใหญ่” น.ส.รวิวรรณ กล่าวทิ้งท้าย