ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดตัวอย่างการดูแลสุขภาพผู้เฒ่า ผ่านชมรมผู้สูงอายุเวียงมอก จ.ลำปาง กับแนวคิด “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย”

      “ชุมชนอยู่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านก็ทำพืชไร่เล็กๆน้อยๆ ไม่ได้มีเงินมีทองมากมาย เมื่อเจ็บป่วยไม่ค่อยมีใครอยากไปโรงพยาบาล การเดินทางค่อนข้างไกลและลำบาก จะหาคนดูแลก็ไม่ได้มีทุกบ้าน เพราะลูกหลานต้องไปทำงานในเมือง ผู้เฒ่าหลายคนก็ดูแลตัวเอง จึงรวมตัวกันจัดเป็นชมรมผู้สูงอายุ และดูแลกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน”   ถ้อยคำของ คุณลุงสรรเสริญ นาครินทร์ ในวัย 70 ปี กับหน้าที่ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลเวียงมอก ดังขึ้นเมื่อถูกถามถึงความเป็นมาของการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ภายในการศึกษาดูงานของผู้บริหารกรมอนามัย นำทัพสื่อมวลชนร่วมลงพื้นที่ดูงานการดูแลผู้สูงอายุในอำเภอเถิน จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

      จังหวัดลำปาง นับเป็นอีกจังหวัดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากมีประชากรผู้สูงวัยทั้งหมด 163,055 คน คิดเป็นร้อยละ 21.98 และจากการคัดกรองผู้สูงอายุของจังหวัดลำปางยังพบว่า มีกลุ่มติดสังคมร้อยละ 91.47 กลุ่มติดบ้านร้อยละ 2.12 และกลุ่มติดเตียงร้อยละ 0.45 ที่ผ่านมาศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนงาน โดยการสร้างภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุขึ้น มีการทำงานร่วมกันระดับพื้นที่ มีระบบการส่งเสริมสุขภาพดูแลผู้สูงอายุระยะยาว(Long Term Care) ซึ่งพบว่ามีชุมชนที่เข้าร่วม 70 ตำบล และตำบลเวียงมอก เป็นหนึ่งในนั้น

     คุณลุงสรรเสริญ เล่าว่า ปัจจุบันตำบลเวียงมอกมีสมาชิกทั้งหมด 14 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 30 คน รวมทั้งหมดมีผู้สูงอายุที่เข้าร่วม 420 คน โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุและกำหนดเป็นธรรมนูญสุขภาวะชุมชน สำหรับผู้สูงอายุตำบลเวียงมอกขึ้น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเถิน สำนักโครงการจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ(สอปร.) สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ(พชอ.) อำเภอเถิน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 5 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านหนองหอย รพ.สต.บ้านสะเลียมหวาน รพ.สต.บ้านปางอ้า รพ.สต.บ้านท่าเกวียน และรพ.สต.บ้านหอรบ ในการรวมพลังสังคมจนเกิดธรรมนูญสุขภาพขึ้น พร้อมทั้งยังมีทีมหมอ เจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขลงพื้นที่มาเยี่ยมผู้สูงอายุ ทั้งที่ติดบ้าน ติดเตียง และติดสังคม

คุณลุงสรรเสริญ นาครินทร์

      นอกจากนี้ ทางชมรมฯ ยังรวมกันจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน อย่างมีผู้สูงอายุที่ป่วยและนอนติดเตียงอยู่ 9 คน พวกเราก็รวมตัวกันเองไปให้กำลังใจ และนิมนต์พระสงฆ์เพื่อให้เขาได้ใส่บาตร ซึ่งทำให้เพื่อนมีกำลังใจขึ้นมาก สุขภาพจิตดีขึ้นสุขภาพกายก็ดี โดยเราไปเยี่ยมเดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่อสม. บุคลากรสาธารณสุขก็ลงพื้นที่ไปเยี่ยมด้วย ซึ่งทางชมรมผู้สูงอายุฯ จะเป็นการทำงานช่วยเสริมกัน

     “พวกเรายังมีโครงการธนาคารเวลา ทำเป็นแต้มบุญ ใครร่วมในชมรม ร่วมกิจกรรมเราก็จะมีแต้มบุญให้ เมื่อสิ้นปีก็มาดูว่าใครได้แต้มบุญอันดับ 1 อันดับ 2 ก็จะมีรางวัล ซึ่งกิจกรรมก็จะมีทั้งการออกกำลังกาย การเต้น การรำวง การร้องเพลงคาราโอเกะ เป็นแบบคนเฒ่ามาร้องเพลงกัน ทำให้ไม่เครียด และยังสร้างอาชีพเล็กๆน้อยๆ อย่างการสานพัด สารตะกร้า และทำสมุนไพรบำรุงกำลังภายในชุมชน จากการทำแบบนี้สุขภาพก็ดีขึ้น ไม่ค่อยป่วย ความดันก็ดี เพราะจะมีแพทย์ลงมาตรวจสุขภาพพวกเราเดือนละ 1 ครั้ง และให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการ ซึ่งพวกเราก็ทำกัน อย่างกินอาหารเย็นไม่เกิน 6 โมงเย็น เพราะผู้เฒ่าจะมีปัญหาเรื่องท้องไส้ ต้องกินอาหารอ่อนๆ กินผักที่สะอาดๆ อย่างที่ผ่านมาผักเสี่ยงมีสารเคมีเยอะ เราก็ใช้วิธีปลูกผักกิน ในแต่ละบ้าน แต่ถ้าใครมีมากเราก็มาแบ่งขายด้วย ซึ่งหลังจากเราดูแลสุขภาพเราก็ดีขึ้น”  ประธานชมรมฯ เล่า

      ขณะที่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลเพิ่ม ว่า การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุผ่านโครงการ Long Term Care มีการดำเนินการมานาน 3 ปี เป็นการดูแลสุขภาพผ่านชุมชน มีผู้จัดการสุขภาพ Care Manager และมีอาสาคือ Care giver ซึ่งเป็นระบบชุมชนเข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ทำงานเชื่อมโยงสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ คือ รพ.สต. จากการทำงานก็ทำให้สถานภาพผู้สูงอายุติดเตียงดีขึ้น มาเป็นติดบ้าน และมีจำนวนหนึ่งก็ขยับเป็นผู้สูงอายุติดสังคม คือ ออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่ด้วยสังคมไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การดูแลเพียงเท่านี้คงไม่ได้ เราต้องเน้นป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนด้วยการเดินหน้า 2 โครงการสำคัญในปี  2563 คือ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

1.โครงการPreventive Long Term Care เป็นการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกัน จะเป็นการเชื่อมโยงกับแนวคิดที่ว่า ผู้สูงอายุคือ หลักชัยของสังคม ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย : อายุยืนยาว สุขภาพดียอดเยี่ยม และ 2.โครงการPre-Aging Long Term Care เป็นการเตรียมพร้อมกลุ่มอายุ 45- 59 ปี ก่อนเข้าสูงผู้สูงอายุเต็มตัว ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นการเตรียมพร้อม ทั้งด้านการเงิน การดูแลสุขภาพ และเตรียมที่อยู่อาศัย อย่างเรื่องสุขภาพเราสามารถชะลอโรคภัยต่างๆได้ เช่น อายุ 45 ปี ค่าเฉลี่ยเกือบทุกคนใส่แว่นสายตาแม้ในคนไม่เคยใส่แว่นตา แต่หากดูแลสุขภาพสายตาได้ เราก็จะชะลอได้

“กรมอนามัยตั้งเป้าว่า จะไม่ใช่แค่ดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ผู้สูงวัยที่สุขภาพดีก็ต้องสร้างเสริมสุขภาพเพื่อชะลอการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ด้วย อย่างที่ผ่านมาตัวเลขผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสถานะติดเตียง พบว่าจากการดูแลสุขภาพกลับมาอยู่ในสถานะติดบ้านดีขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์จากผู้สูงอายุติดเตียงประมาณ 5-6 แสนคน และกลุ่มที่ติดบ้านจะต้องวางแผนไม่ให้ติดเตียงด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุติดบ้านอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุทั้งหมด” พญ.พรรณพิมล กล่าว

เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆจากการทำงานร่วมกันของชุมชนเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงวัยตามแนวคิด “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” ด้วยหลักง่ายๆ 4 Smart ได้แก่

1.Smart Walk ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อร่างกายแข็งแรงไม่หกล้ม โดยผู้สูงวัยควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที

2.Smart Brain ดูแลฝึกทักษะทางสมองด้วยการเล่นเกม ป้องกันภาวะสมองเสื่อม รณรงค์และส่งเสริมพฤติกรรมไม่สูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุทำให้สมองเสื่อมถึง 5 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนไม่สูบบุหรี่

3.Smart Sleep&Emotional นอนหลับอย่างเพียงพอวันละ 7-8 ชั่วโมง โดยนอนหลับในช่วงหัวค่ำและตื่นแต่เช้า หลีกเลี่ยงกินอาหารและออกกำลังกายก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนไม่หลับและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า พร้อมทั้งส่งเสริมสุขภาพจิตและอารมณ์ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น

4.Smart Eat กินอาหารถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เน้นผัก ผลไม้ เลือกอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ปลาทะเล มีกรดโอเมก้า 3 สูง ช่วยบำรุงประสาท สายตา และสมอง ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี เพื่อความสามารถในการบดเคี้ยวอาหาร เป็นต้น

ง่ายๆ เพื่อผู้สูงวัยทุกคน...