ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แอบพลิเคชันไดอะเมท” รุกขยายผลดูแลผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรังพื้นที่ห่างไกล ผ่านระบบเทเลเฮลท์ นำร่อง “10 รพ.เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา” ทั่วประเทศ ในผู้ป่วย 500 ราย เครื่องมือช่วยผู้ป่วยควบคุมเบาหวาน ลดความเสี่ยงอาหาร เพิ่มความสะดวกผู้ป่วยไม่ต้องมา รพ.บ่อยครั้ง ช่วยลดความแออัดใน รพ.ตามนโยบายรัฐ

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชันไดอะเมท (Diamate) ดูแลผู้ป่วยเบาหวานผ่านมือถือสมาร์ทโฟน เปิดเผยว่า ภายลังจากที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชันไดอะเมท ร่วมกับภรรยา คือ พญ.กิติมา เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาชะเมาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.ระยอง ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ ในการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานเรื้อรังผ่านระบบทางไกล (แอปพลิเคชันเทเลเฮลท์) เสมือนมีผู้ดูแล ซึ่งได้เริ่มเปิดตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 โดยแอปพลิเคชันนี้บันทึกค่าน้ำตาลในเลือด แจ้งผลน้ำตาลสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ การแจ้งเตือนกินยา และการควบคุมอาหารโดยการแจ้งรายการอาหารเพื่อสอบถามนักโภชนาการ เพื่อให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรม เป็นต้น

ในช่วง 1 ปี แอปพลิเคชันนี้ได้ถูกใช้งานทั้งในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลในเขตเมืองเพื่อติดตามดูแลผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง บริษัทเอกชนเพื่อดูแลสุขภาพพนักงาน และบริษัทประกันสุขภาพเพื่อดูแลสุขภาพผู้ซื้อกรมธรรม์ ซึ่งนับว่าได้ผลที่ดี โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรังที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ถึงร้อยละ 95 และในปีที่ 2 นี้ จึงมีแนวคิดที่จะขยายแอปพลิเคชันให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง ประกอบกับที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ใช้แอปพลิเคชันจะอยู่ในเขตเมือง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแอปพลิเคชัน จึงได้ทดลองใช้แอปพลิเคชันไดอะเมทติดตามดูแลผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรังในพื้นที่ห่างไกล โดยนำร่องในโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ 10 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ทั้งนี้ โครการนำร่องแอปพลิเคชันไดอะเมท เริ่มต้นได้มีการจัดอบรมพยาบาลวิชาชีพและนักโภชนาการของโรงพยาบาลเกี่ยวกับการใช้งานของแอปพลิเคชันนี้ และรับสมัครผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรังเพื่อเข้าร่วมโครงการ เน้นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ซึ่งมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง โดยจะคัดเลือกเพียงโรงพยาบาลละ 50 คนเท่านั้น ต้องเป็นผู้ป่วยที่ใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละโรงพยาบาลได้มีการอบรมผู้ป่วยถึงการใช้งานและการส่งข้อมูลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อควบคุมเบาหวาน อาทิ ค่าระดับน้ำตาลในเลือด รายการอาหารที่รับประทานในกรณีที่ต้อบการสอบถาม เป็นต้น และหลังดำเนินโครงการ 3 เดือนจะมีการประเมินเพื่อที่จะขยายผลต่อไป

“แอปพลิเคชันนี้ นอกจากเสมือนมีผู้ที่คอยติดตามทุกวัน ทำให้ผู้ป่วยควบคุมเบาหวานได้ดีแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สะดวกไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล” ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชันไดอะเมท กล่าวและว่า หากแอปพลิเคชันไดอะเมทสามารถใช้ในพื้นที่ห่างไกลได้การขยายผลไปยังเขตเมืองและในพื้นที่อื่นก็ไม่เป็นปัญหา

สำหรับโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา10 แห่ง ที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงพยาบาลพนมดงรักษ์ จ.สุรินทร์ โรงพยาบาลเบญจลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลนาวัง จ.หนองบัวลำภู โรงพยาบาลเขาชะเมา จ.ระยอง โรงพยาบาลพระทองคำ จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลยี่งอ จ.นราธิวาส โรงพยาบาลวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลเสาไห้ จ.สระบุรี และรพ.หาดสำราญ จ.ตรัง