ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายประชาชน 9 ด้านยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงระบบบัตรทอง เพิ่มกัญชาเป็นทางเลือกรักษา พร้อมจับตาหลังรมว.สธ.ประกาศไม่ร่วมจ่ายบัตรทองแน่นอน

ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศไม่มีการร่วมจ่ายในยุคที่ตนเองเป็นรัฐมนตรี เพราะจะไม่เอาภาระไปให้ประชาชน และจะเน้นนโยบายการบริการดีเยี่ยมนั้น

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวภายในงานประชุม รับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกี่ยวกับกรณี รัฐมนตรีว่าการ สธ.ประกาศไม่มีร่วมจ่ายในระบบบัตรทอง ว่า ขอให้ขีดเส้นใต้สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พูดว่าไม่มีการร่วมจ่าย ซึ่งโดยหลักการการร่วมจ่ายหลังป่วยต้องไม่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะมีการร่วมจ่ายก่อนป่วยด้วยการเสียภาษีทุกคนแล้ว

นิมิตร์ เทียนอุดม

“อีกประเด็นที่อยากขอให้รัฐมนตรีฯ ไปล้วงไปดูประเด็นที่โรงพยาบาลยังมีการใช้ช่องว่างเรียกส่วนต่างจากค่าวัสดุทางการแพทย์ เพราะโรงพยาบาลยังบอกว่าไม่ครอบคลุมบัตรทอง จึงต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการร่วมจ่ายที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน ส่วนเรื่องข้อกังวลงบฯ เหมาจ่ายรายหัวจะไม่พอนั้นเรียนว่าตอนที่เสนอของบนั้นยอดที่ขอได้มีการคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วแต่ถูกหั่นลง ดังนั้นเพื่อให้เพียงพอก็ต้องไม่ตัดงบฯ” นายนิมิตร์ กล่าว

วันเดียวกันภายในงานฯ เครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ในระบบหลักประกันสุขภาพ นำโดย นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และนายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย พร้อมเครือข่ายร่วม 20 คน เดินทางมายื่นข้อเสนอต่อเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)

นายธนพลธ์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนทั้ง 9 ด้าน ประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายคนไทยไร้สิทธิ/คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปาก และเครือข่ายผู้หญิง ได้จัดทำข้อเสนอ 4 ด้าน เพื่อเสนอต่อเวทีรับฟังความคิดเห็น คือ 1.ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต เช่น เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์การรักษา อย่างการให้กัญชาและสารสกัดกัญชาเป็นทางเลือกในการรักษา เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษารากฟัน แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตรา 5 ให้คำนิยามครอบคลุม คนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย การย้ายสิทธิการรักษามีผลทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพียงพอผู้สูงอายุทุกคน มีจุดกระจายถุงยางอนามัยที่เข้าถึงง่าย สนับสนุนกายอุปกรณ์

2.ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข เช่น ให้บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักในการซักประวัติผู้รับบริการถึงภาวะความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพ จัดตั้งศูนย์บริการด้านสุขภาพให้กับแรงงานนอกระบบ มีช่องทางด่วนพิเศษให้บริการกับผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้รอคิวนาน จัดให้มีล่ามหรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ มีศูนย์บริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน เพื่อให้บริการด้านสุขภาพทางเพศ ให้บริการนอกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้บริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเยาวชน

3.ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับชาติและท้องถิ่น เช่น สนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยบริการ 1 บาทต่อหัวประชากรในการจัดอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบอินทรีย์สำหรับผู้ป่วยใน จัดตั้งกองทุนทันตกรรมสำหรับบริหารจัดการงบประมาณในโครงการบริการทันตกรรมร่วมรัฐ-เอกชน แก้ระเบียบกองทุนสุขภาพท้องถิ่นฯ ให้สามารถสนับสนุนงบประมาณร้อยละ 15 ของงบกองทุนฯ ในการดูแลสุขภาพด้วยการใช้แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน ตั้งงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อดูแลสุขภาพให้กับผู้ที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล คนไทยพลัดถิ่น และ 4.ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในเครือข่ายเกษตร ข่ายเยาวชน ข่ายคนไทยไร้สิทธิ์ และข่ายผู้หญิง