ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตพนักงานของรัฐ 500 คน เตรียมบุก สธ. ยื่นหนังสือ “รมช. สาธิต” คัดค้านหนังสือ ก.พ. แจ้งไม่เยียวยากลุ่ม ขรก.ที่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์เยียวยา ก.พ. หนังสือที่ นร 1012.2/250 ทำเหลื่อมล้ำ เงินเดือนรุ่นน้องแซงหน้ารุ่นพี่ พร้อมขออายุราชการคืน หลังถูกตัดช่วงเป็นพนักงานของรัฐ สร้างความไม่เป็นธรรม

นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2562 นี้ เวลา 10:00 น. ชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยตัวแทนอดีตพนักงานของรัฐ สธ.จากทั่วประเทศประมาณ 500 คน จะเข้ายื่นหนังสือต่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เพื่อเรียกร้องขอคืนอายุราชการในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ และขอให้แก้ไขเงินเดือนเหลือมล้ำจากหลักเกณฑ์เยียวยา ก.พ.หนังสือที่ นร 1012.2/250 ในปี 2557 ซึ่งทำให้ข้าราชการรุ่นน้องที่บรรจุภายหลังมีเงินเดือนมากกว่ารุ่นพี่

ทั้งนี้ปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าวทางชมรมฯ ได้เรียกร้องมากเกือบ 5 ปี โดยมีการยื่นหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 10 ฉบับ และกระทรวงเองก็ได้ยื่นหนังสือไปยัง ก.พ.ในเรื่องนี้มากกว่า 10 ฉบับเช่นกัน นอกจากนี้ชมรมฯ ยังได้ส่งหนังสือเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความเป็นธรรมทั่วประเทศ ทั้งที่สำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศกว่า 2,500 ฉบับ ซึ่งที่ผ่านมา ก.พ.ได้เรียกขอข้อมูลจาก สธ.อย่างต่อเนื่อง ทำให้ดูเหมือนพยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้

นายมานพ กล่าวว่า แต่เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ก.พ. ได้มีหนังสือ นร ๑๐๑๒.๓/๖๘ แจ้งมายัง สธ.ว่า เรื่องที่เรียกร้องนี้ไม่สามารถเยียวยาได้ โดยให้เหตุผลว่าได้มีมติ ครม.อนุมัติสิทธิประโยชน์ให้กับพนักงานของรัฐแล้ว ที่เป็นการเลี่ยงตอบคำถามว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้อย่างไร และการระบุว่า ครม.ได้ให้สิทธิประโยชน์พนักงานของรัฐแล้วจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นซึ่งจะเดินทางไปถาม ก.พ. หลังจากยื่นหนังสือต่อ รมช.สาธารณสุขแล้ว

“ปัญหานี้ยืดเยื้อมากว่า 5 ปีแล้ว และเวลาที่ผ่านไปจะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระทรวงสาธารณสุขยิ่งถ่างออกไป เพราะการปรับขึ้นเงินเดือนแต่ละครั้ง ด้วยเงินเดือนของรุ่นน้องที่มากกว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนย่อมเพิ่มมากตามไปด้วย ทุกวันนี้รุ่นพี่รุ่นน้องทำงานตึกเดียวกัน ห้องเดียวกัน แต่รุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้ากลับมีเงินเดือนน้อยกว่ารุ่นน้องทั้งที่ความรับผิดชอบมากกว่า ก่อให้เกิดปัญหาความสามัคคีในองค์กร ซึ่งในฐานะรุ่นพี่ย่อมดีใจกับรุ่นน้องที่ได้รับการเยียวยา แต่ในการเยียวยานี้ ก.พ.ต้องดูให้ครอบคลุมถึงรุ่นพี่ที่ปฏิบัติงานมาก่อนอย่างเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่แค่เยียวยาเฉพาะกลุ่มจนเกิดปัญหา ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมีทุกวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ เป็นต้น รวมจำนวน 24,063 คน” ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัด สธ. กล่าวและว่า ในการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก รมช.สาธารณสุข ครั้งนี้เป็นเพียงเบื้องต้น หากยังไม่ได้รับการแก้ไขจะมีมาตรการเพิ่มขึ้น ไม่ว่าการหยุดงานประท้วง ไม่ยอมรับนโยบายผู้บริหาร เป็นต้น

ส่วนความคาดหวังในการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรคมครั้งนี้ นายมานพ กล่าวต่อว่า เราคิดว่ารัฐมนตรีที่มาจากการเมืองน่าจะเข้าใจปัญหาพนักงานของรัฐและช่วยแก้ปัญหาให้ โดยเร่งนำเรื่องเข้าสู่ ครม.พิจารณาและมีมติแก้ปัญหาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 สิงหาคม 2562) ที่ จ.นครราชสีมา นายมานพ พร้อมด้วยสมาชิกชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างที่นายอนุทินตรวจราชการที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งนายอนุทิน กล่าวว่า "มีเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ" พร้อมระบุว่าจะสอบถามข้อเท็จจริงจาก นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ติดตามไปด้วย และจะดูแลให้ 

ด้าน ภญ.สุไพรินทร์ พรมเจียม เภสัชกรชำนาญการ รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ตนเองเป็นกลุ่มอดีตพนักงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบ 4 ปี ทั้งนี้ในการเรียนเป็นเภสัชกรเริ่มต้นจะมีการผูกสัญญากับภาครัฐ เมื่อเรียนจบแล้วต้องรับราชการ ไม่เช่นนั้นต้องถูกปรับขณะนั้นเป็นเงิน 2 แสนบาท แต่พอเรียนจบปี 2543 รัฐบาลแจ้งว่าไม่มีตำแหน่งข้าราชการบรรจุ และมีหนังสือสัญญาให้เซ็นยอมรับเป็นพนักงานของรัฐแทน โดยระบุว่ามีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการทุกอย่าง ซึ่งต่อมาในปี 2547 ได้มีการปรับพนักงานของรัฐให้เป็นข้าราชการ โดยขณะนั้นไม่ทราบเลยว่า การนับอายุราชการจะไม่นับรวมอายุงานในช่วงเป็นพนักงานของรัฐ แต่มาทราบหลังจากมีเพื่อนๆ ลาออก ตรงนี้ทำให้เราเสียสิทธิทั้งในเรื่องความก้าวหน้า และเงินเกษียณด้วยอายุงานที่หายไป นอกจากนี้จากที่ ก.พ.มีหนังสือที่ นร 1012.2/250 ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น โดยเงินเดือนของรุ่นน้องแซงหน้ารุ่นพี่ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับในช่วง 5 ปี ของการเรียกร้องเยียวยา มองว่าเรื่องถูกโยนกันไปมา ทั้งที่เราเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบโดยการเมืองขณะนั้น โดยอายุราชการที่หายไปทำให้รู้สึกหมือถูกรัฐหลอกใช้แรงงานราคาถูก ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงอยากให้รัฐบาล และ ก.พ.ดูว่ามีวิธีไหนที่จะช่วยให้ความเป็นธรรมกับพวกเราได้บ้าง