ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาสมุนไพร ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยอีกแขนงหนึ่งที่อยู่คู่บรรพบุรุษไทยมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันยาสมุนไพรถูกลดทอนความสำคัญลงจากหลายๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการรับเอาการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์สมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในการรักษามากขึ้น ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนและประชาชนทั่วโลก เพราะหลักการแนวคิดตลอดจนกระบวนการและขั้นตอน ถูกวิทยาศาสตร์เข้ามาจับและนำวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้ ซึ่งทำให้ยาสมุนไพรไทยที่ยังขาดการวิจัยหรือการศึกษา ลดความน่าเชื่อถือด้านมาตรฐานทำให้ผู้รับบริการและผู้ให้บริการขาดความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพร

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ ในมาตรา 55 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอีกครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับก่อนว่า “การนำของเก่า มาใช้ร่วมกับของใหม่ ต้องได้มาตรฐาน ผู้รับบริการปลอดภัย” ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมาทบทวนเพื่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

เภสัชกร จึงเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน “ยาสมุนไพรไทย....สู่มาตรฐานสากล” โดยประเด็นหลักใหญ่ใจความสำคัญ คือ โครงสร้างการขับเคลื่อนยาสมุนไพรอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการศึกษาตำรับยาสมุนไพรหรือพืชสมุนไพร นำไปสู่ขั้นตอนการวิจัย ทดลอง และเข้ากระบวนการการรักษา โดยต้องสร้างความเข้าใจ ความเชื่อมั่นในการสั่งจ่ายยาสมุนไพรของแพทย์แผนปัจจุบัน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาสมุนไพร

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามูลค่าการใช้ยาสมุนไพรต่อมูลค่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน (ทั้งประเทศ) คิดเป็นร้อยละ 1.05 (ที่มา : HDC กระทรวงสาธารสุข 7 สิงหาคม 2562) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในภาพระบบบริการสุขภาพของภาครัฐน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน ดังนั้นบทบาทเภสัชกร จึงให้ความสำคัญและเร็งหาช่องทางการเพิ่มมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการของรัฐ โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรีที่มีโรงผลิตยาสมุนไพรที่ผ่านมาตรฐาน GMP WHO ในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และโรงพยาบาลหนองโดน ทั้งนี้จึงได้จัดทำการพิธีลงนามความร่วมมือด้านการบริหารจัดการระบบยาสมุนไพรจังหวัดสระบุรี (MOU) หน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 จังหวัดระบุรี วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสระบุรี และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการระบบยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐานสากล

จังหวัดสระบุรี ถือว่าเป็นจังหวัดลำดับต้นๆของประเทศที่มีการทำข้อตกลงการซื้อยาสมุนไพรระหว่าง รัฐต่อรัฐ ด้วยระบบการโอนขายบิล ซึ่งจัดทำทุกโรงพยาบาลในจังหวัดสระบุรี โดยใช้ระเบียบและแนวทางเดียวกันทั้งจังหวัด และยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการของรัฐ นอกจากนั้นยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ (กลุ่มผู้ปลูก) เป็นการเชื่อมโยงเส้นทางเมืองสมุนไพรตังแต่ (ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง) ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ผู้เขียน : เภสัชกรหญิงชวัลวลัย เมฆสวัสดิชัย หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี