ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชาวอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เอือมระอาปัญหาขยะมูลฝอยเกลื่อนเมือง ผนึกกำลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อน-ร่วมกันสร้าง “ธรรมนูญสุขภาพ” หวังใช้เป็นเครื่องมือสร้างกติกาหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่น ทางด้าน “อบต.อ่าวนาง” สบช่อง กำหนดนโยบายขานรับข้อบัญญัติในธรรมนูญสุขภาพ ก่อนจะแตกหน่อต่อยอดเป็นมาตรการสุดสร้างสรรค์ ผุดโครงการ “สายตรวจซาเล้ง” เปิดให้ขึ้นทะเบียน แจกเสื้อกั๊กสัญลักษณ์การันตีความปลอดภัย-แยกขยะได้อย่างเปิดเผย

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “ธรรมนูญเขยื้อนขยะ สร้างสุขภาวะคนอ่าวนาง” ณ ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามดอกผลจากการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลหนุนเสริมการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.อ่าวนาง) ในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา

นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาขยะในตำบลอ่าวนางซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอีกด้วย ทำให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยจิตสาธารณะ และนำเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมอย่าง “ธรรมนูญสุขภาพ” เข้ามาใช้จนประสบผลสำเร็จ

นางอรพรรณ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาทาง อบต.อ่าวนาง จะใช้ทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งการออกเทศบัญญัติหรือกฎกติกาต่างๆ แต่ด้วยสิ่งเหล่านั้นถูกกำหนดมาจากภาครัฐหรือท้องถิ่น จึงแตกต่างกับธรรมนูญสุขภาพฯ ที่มีลักษณะเป็นกฎกติกาเหมือนกันแต่เกิดจากทุกคนในชุมชนมาตกลงร่วมกัน ดังนั้นธรรมนูญสุขภาพจึงนับเป็นอำนาจอ่อนของชุมชนที่ทุกคนมองเห็นปัญหาร่วมกัน

“เมื่อเกิดข้อตกลงร่วมจนเป็นกติกาสังคมขึ้นมาแล้ว ท้องถิ่นก็ได้นำกติกาสังคมนั้นไปยกระดับเป็นเทศบัญญัติที่ทุกคนยอมรับ ซึ่งเท่ากับอำนาจอ่อนและอำนาจแข็งได้เคลื่อนพร้อมกัน ตรงนี้ก็จึงนำมาสู่ผลิตผล นั่นคือรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา”

นางอรพรรณ กล่าวต่อไปว่า ธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นเครื่องมือที่ให้บทบาทแก่คนทุกคน สอดคล้องกับวิถีชีวิตและธรรมชาติของแต่ละคน ดังนั้นทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อยก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ชาวบ้านก็ต้องเอาขยะมาวางทิ้งตามเวลาที่กำหนด ต้องมัดปากถุงและแยกขยะ ขณะที่ซาเล้งก็ได้มาเป็นจิตสาธารณะที่ดูแลเรื่องขยะ รวมถึงดูแลเรื่องความปลอดภัยของสังคมบนเนื้องานที่ตนเองทำอยู่ หรืออย่างเช่นชาวเรือหางยาว ก็ใช้บทบาทของตนเองในการสร้างจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ ปัญหาขยะไม่ใช่เพียงเรื่องเศษผงที่ทิ้งอยู่ข้างทาง แต่เป็นเรื่องการจัดการเชิงระบบที่ใหญ่มาก เห็นได้จากการให้ความสำคัญทั้งในส่วนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และยังถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายของจังหวัดด้วย ส่วนภาควิชาการก็ได้เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม เช่น การทำถนนจากอิฐบล็อกจากพลาสติก ซึ่งทั้งหมดมีส่วนหนุนเสริมและสร้างความมั่นใจให้กับพื้นที่เป็นอย่างดี

“จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจะต้องเผชิญกับปัญหาขยะอย่างแน่นอน จากนี้จึงเป็นความท้าทายของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 11 ซึ่งทำงานครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีแนวชายหาดทางภาคใต้ ว่าจะสามารถนำพื้นที่ต้นแบบอย่างตำบลอ่าวนาง ไปเรียนรู้และขยายผลเพื่อรับมือกับปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างไร” นางอรพรรณ ระบุ

นายปรีชา ปานคง

ด้าน นายปรีชา ปานคง ชาวบ้านตำบลอ่าวนาง และผู้ประกอบการกลุ่มน้ำหมักชีวภาพ เปิดเผยว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภาพของตำบลอ่าวนางจะเต็มไปด้วยความสกปรกเลอะเทอะ ขยะเต็มสองข้างทาง บางครั้งก็มีการเผาขยะริมถนน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากจะสรุปปัญหาของตำบลอ่าวนาง พบว่ามี 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ ทิ้งขยะไม่เป็นเวลา ทิ้งขยะเรี่ยราด และปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล

นายปรีชา กล่าวว่า ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง พยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ จัดทำโครงการแลกขยะกับเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนสร้างสถานีขยะเป็นจุดทิ้งขยะขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาเบาบางลง

“ยอมรับว่า อบต.อ่าวนาง ทำงานอย่างจริงจังมาก แต่ชาวบ้านไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาขยะจึงคงอยู่มาเป็นสิบปี จนกระทั่งเกิดสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่และมีการนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุย ก่อนจะเกิดการผลักดันให้ตำบลจัดทำธรรมนูญสุขภาพขึ้นมา”

นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงแรกของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม แต่เมื่อผู้นำชุมชนได้เอ่ยปากชักชวนต่อๆ กันไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีคนมาเข้าร่วมมากขึ้น ทั้งกรรมการหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ชมรมสามล้อ กลุ่มเรือหางยาว ฯลฯ เมื่อคนเข้าร่วมมากขึ้นก็เริ่มมองเห็นปัญหาร่วมกัน สุดท้ายก็พร้อมใจกันปฏิบัติตามข้อกำหนดในธรรมนูญสุขภาพฯ

“ผู้ที่เข้าร่วมในกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพฯ เริ่มตระหนักรู้และได้กลับไปดำเนินการตามบทบาทและความถนัดของตัวเอง โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการขยะ อย่างผมถนัดเรื่องทำน้ำหมักชีวภาพก็สนับสนุนในส่วนนี้ กลุ่มเรือหางยาวก็ไปกำหนดมาตรการของเขา เช่น เฝ้าระวังนักท่องเที่ยวให้นำขยะกลับมาทิ้งบนฝั่ง หรืออย่างผู้ประกอบการก็มีการจัดการ เรื่องการคัดแยกขยะ การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น รวมถึงต่อยอดการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น กิจกรรม Big Cleaning Day ประจำเดือน”

นายพันคำ กิตติธรกุล

นายพันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง กล่าวว่า ปัจจุบันตำบลอ่าวนางมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน คิดเป็นกว่า 50% ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ โดยระหว่างปี 2558-2560 อบต.อ่าวนาง ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 28 ล้านบาท

สำหรับต้นทางของขยะ มาจากคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง ได้มุ่งเน้นแก้ไขกับคนในพื้นที่เป็นลำดับแรก เช่น รณรงค์ให้เก็บกวาด แจกถังขยะตามครัวเรือน สร้างจุดทิ้งขยะ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สามารถควบคุมขยะได้ เนื่องจากประชาชนยังขาดจิตสำนึกและไม่ยอมทำตามกฎหมาย ทาง อบต.อ่าวนาง จึงปรับแนวคิดด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมมาจัดการขยะ

“เราได้ทำประชาคมพูดคุยกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ และได้นำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นั่นคือ ธรรมนูญสุขภาพตำบล เข้ามาสนับสนุนการทำงาน โดยทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาขยะและน้ำเสีย คือสิ่งที่ทุกคนอยากให้แก้ไข ในธรรมนูญสุขภาพจึงมีข้อบัญญัติถึงกติกาและแนวปฏิบัติเพื่อจัดการขยะร่วมกัน”

นายพันคำ กล่าวต่อไปว่า อบต.อ่าวนาง ได้เก็บถังขยะกลับมาทั้งหมดและทดลองเปลี่ยนมาใช้ถุงดำแทน โดยธรรมนูญสุขภาพได้บัญญัติให้ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะบรรจุใส่ถุงดำ ผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางในจุดที่กำหนดระหว่างเวลา 19.00 - 24.00 น. จากนั้นทาง อบต.อ่าวนาง ก็จะส่งรถขยะออกไปจัดเก็บ

“นอกจากนี้ อบต.อ่าวนาง ยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เราจึงรณรงค์ให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการคัดแยกขยะ เนื่องจากขยะในตำบลอ่าวนางมีจำนวนมาก ทำให้เป็นที่หมายปองของซาเล้งเก็บของเก่าทั้งในและนอกพื้นที่ เราจึงได้จัดทำ โครงการ “สายตรวจซาเล้ง” คือเปิดให้กลุ่มซาเล้งมาขึ้นทะเบียน กรอกประวัติ และรับเสื้อกั๊กอย่างถูกต้อง สุดท้ายคนกลุ่มนี้จะช่วยคัดแยกขยะ สามารถนำไปขายสร้างรายได้ และยังช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสความไม่ชอบมาพากลให้กับเจ้าหน้าที่อีกแรงหนึ่ง โดยประเด็นการคัดแยกขยะก็ถูกบรรจุอยู่ในธรรมนูญสุขภาพด้วยเช่นกัน” นายพันคำ กล่าว

นายอดิศักดิ์ แซ่หลี

นายอดิศักดิ์ แซ่หลี ผู้ประกอบอาชีพซาเล้งเก็บของเก่า เจ้าของเสื้อกั๊กหมายเลข 3 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ซาเล้งเก็บของเก่ามักจะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ หากมีของหายก็จะถูกสงสัยเป็นลำดับแรกๆ ประกอบกับในอดีต มีซาเล้งจากนอกพื้นที่เข้ามาในตำบลอ่าวนางเป็นจำนวนมาก ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับมาตรการจัดระเบียบซาเล้ง ด้วยการเปิดให้ขึ้นทะเบียนและให้สวมใส่เสื้อกั๊ก เพราะจะทำให้ทำงานได้อย่างเปิดเผย ไม่ถูกหวาดระแวง ส่วนซาเล้งนอกพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้ามาได้

“ผมทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้า ไปจนถึงตี 2 จึงจะเข้าบ้าน ช่วงเช้าก็จะรับซื้อของเก่า ช่วงค่ำก็จะมาแยกขยะไปขาย เฉลี่ยแล้วในแต่ละวันผมแยกขยะไปขายได้ประมาณ 100 กิโลกรัม ส่วนฤดูท่องเที่ยวหรือเทศกาลเคยแยกได้มากสุดถึง 1,000 กิโลกรัม ทำรายได้ตั้งแต่วันละ 800 บาท ไปจนถึง 2,000 บาท และเคยมีรายได้สูงสุดถึงเดือนละ 6 หมื่นบาท”

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มีซาเล้งลงทะเบียนอยู่ 52 คัน ถ้าแต่ละคันสามารถแยกขยะออกไปขายได้วันละ 100 กิโลกรัม ก็เท่ากับช่วยกำจัดขยะออกไปจากระบบมากถึงกว่าวันละ 5 ตัน ส่วนตัวคิดว่ากลุ่มซาเล้งก็มีส่วนสำคัญในการลดขยะ และหากทุกครัวเรือนรู้จักแยกขยะไปขายเองได้ นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังจะช่วยลดจำนวนขยะในอ่าวนางได้อีกมาก

นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์

ทางด้าน นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 11 กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยและการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลเป็นวาระที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ ซึ่งประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบการ หน่วยราชการ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน แสดงความกังวลและให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างมาก โดยที่ประชุมได้มีฉันทมติเมื่อปี 2560 และขับเคลื่อนมติฯ ตลอดปี 2561 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยอยู่ในช่วงประเมินว่าควรจะปรับปรุงหรือต่อยอดอย่างไร

นพ.วีรพงศ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเดียวกันนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สานพลังของ กขป.เขต 11 เรื่องสุขภาวะทางทะเล เนื่องจากขยะมูลฝอยที่ไหลลงสู่ทะเลนั้นส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากบนบก ดังนั้น กขป.เขต 11 จึงให้น้ำหนักไปที่การรณรงค์ในระดับตำบล หมู่บ้าน พร้อมๆ กับการผลักดันกฎหมายและการสื่อสารเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน

“พื้นที่ตำบลอ่าวนางเมื่อ 5 ปีก่อนไม่ได้สะอาดเหมือนทุกวันนี้ ตามถนนริมชายหาด ตรอกซอกซอย ล้วนแต่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอยส่งกลิ่นเหม็น ถึงแม้ว่า อบต.อ่าวนาง จะมีความคิดและมีมาตรการแก้ไขปัญหาหลากหลาย แต่ก็ประสบผลสำเร็จได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่การตื่นตัวของชาวบ้าน การร่วมกันจัดทำธรรมนูญสุขภาพเป็นข้อกำหนดของพื้นที่ นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว” นพ.วีรพงศ์ กล่าว

อนึ่ง “ธรรมนูญสุขภาพ หมู่ที่ 5 บ้านทุ่ง ตำบลอ่าวนาง” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แบ่งออกเป็น 7 หมวด รวมทั้งสิ้น 34 ข้อ โดยมีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ

ข้อที่ 3 ประชาชน/สถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย และห้ามทิ้งขยะลงบนถนน ไหล่ทาง ที่สาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามต้องยินยอมเสียค่าปรับ ครั้งละ 2,000 บาท และเทศกิจหรือผู้ที่สามารถชี้ตัวผู้กระทำผิดและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ จะได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับ จำนวน 1,000 บาท

ข้อ 4 ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะมูลฝอยบรรจุใส่ถุงดำและผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางหน้าบ้านตนเองริมเส้นทางจราจร หรือจุดที่กำหนด ระหว่างเวลา 19.00 - 24.00 น.

ข้อ 15 ครัวเรือนและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด โดยลดปริมาณการใช้ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และส่งเสริมให้มีการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า