ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษกรัฐบาล แจง ข่าวตัดงบบัตรทองไม่เป็นความจริง ด้านกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแจงอย่าบิดเบือน ระบุรัฐบาลต้องแยกแยะระหว่าง Fake News กับสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อย่าเหมารวมว่าข่าวที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลเป็นข่าวปลอม ยืนยัน ข่าวจริง ท้าเปิดเอกสารพิสูจน์

หลังจากเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว “ทวงคืนงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพ รวม 676 ล้านบาท” ซึ่งถูกตัดออกไปในสมัยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดที่ผ่านมา จนกลายเป็นประเด็นข่าวที่สื่อหลากหลายสำนักให้ความสนใจ ดูข่าว ที่นี่

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้การแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โดยชี้แจงผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊คตอนหนึ่งว่า รัฐบาลไม่มีการตัดลดงบบัตรทองอย่างที่มีการเผยแพร่ไป พร้อมทั้งได้แชร์ภาพการแถลงข่าวโดยระบุข้อความว่า “ข่าวปลอม!!! FAKE NEWS” โดยระบุว่า

"ผู้ที่ถือบัตรทองอย่าเพิ่งตกใจกันนะคะ รัฐบาลไม่มีการตัดลดงบบัตรทองอย่างที่มีการเผยแพร่ไปค่ะ นอกจากจะไม่ตัดลดแล้วยังเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาบริการให้ด้วยค่ะ โดย ครม.อนุมัติงบกองทุนบัตรทอง ปี 63 กว่า 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มเม็ดเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากปี 62 กว่า 6.5 พันล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาท/ประชากร

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมีทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก การคัดกรองมะเร็งลำไส้ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจยีนส์ การผ่าตัดทางกล้องช่วยลดเวลาที่ต้องนอนใน รพ. เพิ่มยาป้องกันโรคเอดส์ เพิ่มการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องที่บ้านให้กับผู้ป่วยที่ต้องล้างไต เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพและมาตรฐาน

การอนุมัติงบประมาณของ ครม.เป็นไปตามที่ สปสช.เสนอมาค่ะ เพียงแต่ให้ไปตกลงรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ จึงอาจทำให้ทางภาคประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะต้องใช้ตัวเลขของสำนักงบประมาณ ซึ่งท่านนายกฯได้เน้นกับ รมว.สาธารณสุขให้บริหารงบ’63 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปรับระบบบริการ ลดความแออัด ให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับยาทีร้านยาใกล้บ้าน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการนัดแพทย์ผ่านระบบ Application ลดเวลารอคิวที่โรงพยาบาลค่ะ"

พร้อมติดแฮชแท็กว่า #ไม่ชัวร์อย่าแชร์ #ข้อมูลผิดอย่าเชื่อ #อ่านให้ดีก่อนเชื่อก่อนแชร์ #เชื่อแหม่ม

ขณะที่ LINE Official “ไทยคู่ฟ้า” ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารของรัฐบาล ได้ส่งข้อความยืนยันว่า “ข่าวรัฐตัดงบบัตรทอง 680 ล้านบาท ไม่เป็นจริง” พร้อมทั้งแชร์ภาพและระบุข้อความ “ข่าวปลอม!!! FAKE NEWS” เช่นเดียวกัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

ล่าสุด นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และผู้นำการแถลงข่าวดังกล่าว ยืนยันว่า ข้อมูลที่แถลงต่อสาธารณชนไม่ใช่ “ข่าวปลอม” หรือ FAKE NEWS แต่อย่างใด ในทางกลับกันมีหลักฐานเป็นหนังสือทางราชการจากสำนักงบประมาณยืนยันได้ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นความจริง

“เรื่องนี้ไม่ใช่ FAKE NEWS อย่างแน่นอน เพราะเป็นข้อมูลจากหนังสือที่ทางสำนักงบประมาณตอบกลับมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งยืนยันตัวเลขไว้อย่างชัดเจน” นายนิมิตร์ กล่าว และยืนยันอีกว่า ตนเองเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการขอบเขตบริการ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดทำงบประมาณ และอยู่ในกระบวนการทั้งขึ้นและขาลง

ทั้งนี้ หากรัฐบาลคิดว่าการแถลงข่าวเป็น FAKE NEWS ให้กลับไปดูจดหมาย เอกสาร หรือข้อมูลจากการประชุมที่ผ่านมา

ด้านกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ โพสต์ Facebook เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ระบุว่า

"ที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแถลงเมื่อวานนี้ไม่มีใครแตะประเด็นเรื่อง "ค่าเหมาจ่ายรายหัว" เลยนะ ภาคประชาชนแถลงว่างบที่โดนตัดคือ "งบนอกเหมาจ่ายรายหัว หรืองบกองทุนเฉพาะโรค" เช่น ค่าบริการผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ กองทุนเอดส์ กองทุนโรคไต ซึ่งจะทำให้งบประมาณหายไปเกือบ 680 ล้านบาท และจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

รอสำนักงบประมาณยืนยันดีกว่าว่างบในส่วนที่ภาคประชาชนพูดถึงไม่ได้ถูกตัดจริง"

พร้อมติดแฮชแท็กว่า #อย่าบิดเบือน #อธิบายไม่ครบ

วันเดียวกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้โพสต์ facebook โดยยืนยันจุดยืนใน 4 ประเด็นสำคัญ พร้อมระบุว่า 

"รัฐบาลต้องแยกแยะระหว่าง Fake News กับสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อย่าเหมารวมว่าข่าวที่มีความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาลเป็นข่าวปลอม

การจัดสรรงบบัตรทอง สปสช. ต้องประเมินจากค่าใช้จ่ายปีที่ผ่านมา คำนวนประมาณการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ ถึงตั้งงบปีต่อไป เพื่อให้สำนักงบพิจารณา ในสมัยอดีต รมว.หมอปิยะสกล ได้ร่วมกับ สปสช. เจรจาต่อรองกับสำนักงบ งบขาขึ้นในกองทุนนอกเหมาจ่ายรายหัว เช่น กองทุนโรคไต ตอนเจรจาตกลงก่อนที่เสนอเข้า ครม.ตกลงที่ 9,405 ล้านบาท แต่พอเข้า ครม.สำนักงบกลับตัดลงเหลือ 9,105 ล้านบาท หายไป 300 ล้านบาท หรือกองทุนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงและผู้สูงอายุ ตกลงกันที่ 1,025 ล้านบาท แต่กลับ เสนอครม.ที่ 975 ล้านบาท หายไป 49.87ล้านบาท

แหล่งข่าวในที่ประชุม ครม.นัดนั้น บอกว่า นพ.ปิยะสกล อดีต รมว.สธ. ได้พยายามต่อรองและยืนยันตัวเลขที่ตกลงกันแต่ก็ไม่เป็นผล

สิ่งที่กลุ่มคนรักหลักประกันยืนยัน คือ

1. รัฐบาลต้องพิจารณาและยึดตัวเลขที่มีการตกลงกัน

2. แม้รัฐบาลจะอ้างว่าได้เพิ่มงบให้แล้ว แต่การเพิ่มงบนั้นกลับไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลที่มีการคำนวนและเสนอจากการให้บริการจริงในปีที่ผ่านมา

3.กลุ่มคนรักหลักฯตั้งคำถามกับการให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณของรัฐบาล ระหว่างการตัดสินใจที่เหมือนว่าจะตัดสินใจได้ง่ายๆ แจกเงินเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจที่คนได้ประโยชน์เพียงบางส่วน แต่กลับปล่อยให้งบบัตรทองในกองทุนโรคสำคัญๆ ถูกตัดออก

4. การเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทองมีการเพิ่มเป็นปกติไต่ระดับทีละน้อย แต่คนละส่วนกับงบนอกเหมาจ่ายรายหัว ที่ใช้สำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งงบก้อนนี้เป็นงบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นงบคนละส่วนกับเหมาจ่ายรายหัวที่ รพ.ได้รับ ใครรักษาก็มาเบิกกับกองทุน ช่วยให้ไม่เป็นภาระงบประมาณกับโรงพยาบาล ซึ่งมีจำนวนคนที่ต้องได้รับบริการรักษาหลายแสนคน รัฐบาลต้องเพิ่มงบให้กับระบบหลักประกันฯใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริงที่เสนอขอ ซึ่งคือตัวเลขที่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพนำเสนอไป"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โวยรัฐบาลตัดงบบัตรทอง 680 ล้าน แต่กลับแจกเงินให้คนไปเที่ยว 1.5 หมื่นล้านได้