ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ชื่นชมการแก้ไขปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลศูนย์ ในเขตสุขภาพที่ 9 สร้างความเชี่ยวชาญให้โรงพยาบาลเล็ก สร้างระบบโรงพยาบาลคู่พันธมิตร แบ่งปันทรัพยากรกันใช้ จัดการ ระบบส่งต่อผู้ป่วยใน เตียงกลาง ภายในจังหวัด

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์เขตสุขภาพที่ 9 และเป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ระบบส่งต่อผู้ป่วยใน เตียงกลาง ของจังหวัดนครราชสีมา ระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.เทพรัตนนครราชสีมา รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รพ.เดอะโกลเดนเกท รพ.ราชสีมาฮอสพิทอล รพ.กรุงเทพราชสีมา รพ.ป.แพทย์และ รพ.เซนต์เมรี่

นายอนุทิน กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายลดความแออัดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยที่เขตสุขภาพที่ 9 เขตนครชัยบุรินทร์ ได้ตั้งเป้าหมาย “ลดแออัด ไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ มุ่งประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยพัฒนาประสิทธิภาพบริการ เช่น เปิดคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ ใช้ระบบบริการร่วมกันในเขตแบบไร้รอยต่อ สร้างระบบโรงพยาบาลคู่พันธมิตรจับคู่โรงพยาบาลใหญ่และโรงพยาบาลเล็ก (Buddy Hospital) แบ่งปันทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกัน การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลระดับแม่ข่าย และโรงพยาบาลขนาดเล็ก ให้โรงพยาบาลชุมชนจัดเตียงรองรับผู้ป่วยที่อาการคงที่หรืออยู่ในระยะพักฟื้น (Intermediate Care)

ผลการดำเนินงาน พบว่าได้ผลดี เช่นที่ โรงพยาบาลเทพรัตน์ทำการผ่าตัดไส้ติ่งเพิ่มขึ้นถึง 1,400 ราย ลดความแออัดในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ร้อยละ 39 การผ่าตัดต้อกระจกในโรงพยาบาลชุมชน 160 รายต่อปี ซึ่งทำให้เพิ่มอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ลดความแออัดโรงพยาบาลศูนย์ การพัฒนาระบบส่งต่อภายในจังหวัดโดยใช้รถพยาบาลร่วมกัน (Car pool ambulance) รวมถึงขยายคลินิกหมอครอบครัวให้เปิดบริการทั่วเขตเมืองมีประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 87

“วันนี้มีการ MOU กันเพื่อลดความแออัดในส่วนจังหวัดนครราชสีมา ต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลภาคเอกชนที่ได้มีร่วมมือกับทางราชการในการแบ่งเบาภาระ ขอบคุณ สปสช.ที่ทำให้โรงพยาบาลเฉลี่ยผู้ป่วยออกไปเรียกเก็บค่ารักษาจาก สปสช.ได้ เป็นนิมิตหมายที่ดีถึงความร่วมมือของรัฐและเอกชนที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น การกระจายความแออัดออกไปจะช่วยให้โรงพยาบาลมีประสิทธิภาพในการบริการผู้ป่วยเพิ่มยิ่งขึ้น ต่อไปนี้เราจะไม่มีผู้ป่วยที่นอนตามพื้นตามทางเดินของโรงพยาบาล” นายอนุทินกล่าว

ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ประชากร 6.7 ล้านคน มีหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 90 แห่ง ในปีงบประมาณ 2560 และ 2561 อัตราการครองเตียงเฉลี่ยรวมของโรงพยาบาลจังหวัดทั้ง 4 แห่ง เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ประสบวิกฤตปัญหาความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์ โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีจำนวน 1,300 เตียง แต่มีผู้ป่วยใน 1,400 – 1,640 คนต่อวัน ซึ่งภายในปี 2562 มีแผนการกระจายเตียงสู่ โรงพยาบาลเอกชน 205 เตียง