ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ถกประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า เตรียมเสนอ ก.พาณิชย์ ยันคงมาตรการห้ามตามเดิม เผยคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลิกบุหรี่ได้ไม่เกิน 10% แถมทำให้เลิกยากขึ้นเกือบ 30% นิโคตินมีอานุภาพเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน เสี่ยงอันตรายสารพัดโรค สธ.ยันไทยยังคงมาตรการห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โทษสูงสุด จำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้แต่พกติดตัวก็มีความผิด จำคุก 5 ปี หรือปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในการประชุมนำเสนอการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยว่า ศจย. เป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานพิจารณาทบทวนมาตรการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ที่จัดตั้งโดยกระทรวงพาณิชย์โดยในการประชุมได้มี คณาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนนักกฎหมาย จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ศจย. พร้อมสนับสนุนงานวิจัยแก่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้คงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองสุขภาพและปกป้องเยาวชนไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า

พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร

พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงประเด็นโทษของบุหรี่ไฟฟ้า ผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมของประเทศไทยว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์เสพยาสูบหรือเสพนิโคตินที่ใช้การทำให้สารน้ำเกิดความร้อน และระเหยเป็นไอน้ำมาให้สูด/สูบ โดยที่ไม่เกิดควันจากการเผาไหม้ ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่าร้อยละ 95 มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งแปลว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ติดสารนิโคตินได้ มีผู้นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือก เพื่อหวังผลเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ ข้อมูลในแง่การช่วยเลิกบุหรี่ พบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีอัตราการเลิกบุหรี่ เพียงร้อยละ 5-9 และมีข้อมูลว่าหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ กลับทำให้โอกาสเลิกบุหรี่ลดลงไปกว่าเดิมถึงร้อยละ 27

พญ.นภารัตน์ กล่าวต่อว่า บุหรี่ไฟฟ้านอกจากมีนิโคตินที่มีอานุภาพการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน ผู้เสพสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ธรรมดากว่า 3-10 เท่า นอกจากเสพติดยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูง มีภาวะหลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง มีโลหะหนัก เช่น นิเกิล โครเมียมที่มีพิษต่อปอด แคดเมียมที่มีพิษต่อไต สารก่อมะเร็ง เช่น เบนซีน อะเซตตัลดีไฮด์ สารบางชนิดซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของตัวทำละลายของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อโดนความร้อนเป็นไอน้ำเพื่อเสพ จะแปรเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้คือ ไดเอทธิลีนไกลคอล และสารกลีเซอรอล สารแต่งกลิ่นผลไม้หรือกลิ่นหอมเพื่อเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่มีฤทธิ์ทำลายเยื่อบุหลอดลม มีการปลดปล่อยอนุภาคขนาดเล็กมาก PM 2.5 และอนุภาคนาโนที่แทรกซึมเข้าร่างกายเป็นการสะสมพิษไปก่ออันตรายในอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย

“ในกลุ่มเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่อง มีโอกาสติดบุหรี่แบบมวนมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย บุหรี่ไฟฟ้ามีแบตเตอรี่ที่ใช้เป็นต้นกำเนิดความร้อนในอุปกรณ์เสพเกิดระเบิดได้ นอกจากนี้ในสัตว์ทดลองพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดพยาธิสภาพในปอดเหมือนกับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการติดบุหรี่กว่าเดิม โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้คู่กันกับบุหรี่ธรรมดา (เช่น ในอาคาร ในรถใช้บุหรี่ไฟฟ้า นอกอาคารใช้บุหรี่ธรรมดา) เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเด็กและเยาวชน (bad role model) เช่น เด็ก เห็นคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถแยกแยะได้ว่าแตกต่างบุหรี่จริงอย่างไร เมื่อมีโอกาสจับบุหรี่มวนก็อาจนำไปสู่การสูบได้ “โดยเฉพาะถ้าบุคคลที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นบุคคลต้นแบบในครอบครัว หรือในสังคม” พญ.นภารัตน์ กล่าว

นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย นิติกรชำนาญการ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ภายใต้บริบทกฎหมายของประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมอย่างเด็ดขาด เริ่มตั้งแต่การห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“หากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และสำหรับกรณีของผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ทั้งที่รู้อยู่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของที่ห้ามนำเข้ามาประเทศไทย ต้องถือว่ามีความผิดเช่นกัน ซึ่งหากถูกจับกุมดำเนินคดี ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 246 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งมาตรการทางกฎหมายเหล่านี้ของประเทศไทย ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก” นายจิระวัฒน์ กล่าว