ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.จับมือ กรมอนามัย คณะพยาบาลฯ อปท. พัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กแบบก้าวกระโดด นำร่อง 273 แห่ง พบเด็กไทยยังเหลื่อมล้ำ เข้าไม่ถึงโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.62 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น ในการลงนามความร่วมมือข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบก้าวกระโดด ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมดับบ้านดับเมืองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2580) ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยหล่อหลอมเด็กให้มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามพบว่า เด็กเกือบ 1 ใน 4 มีปัญหาด้านพัฒนาการที่พบบ่อยคือ ปัญหาด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา การเข้าใจภาษา การใช้ภาษา การช่วยเหลือตัวเอง และด้านการเคลื่อนไหว

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตรายงานว่าจากการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าให้เข้าสู่กระบวนการกระตุ้นพัฒนาการต่อเนื่องจนกลับมามีพัฒนาการสมวัย สามารถติดตามเด็กให้มารับการกระตุ้นพัฒนาการได้เพียงร้อยละ 30.48 อยู่ระหว่างการติดตามร้อยละ 19.19 และไม่สามารถติดตามได้ถึงร้อยละ 50.85 เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วง 2-5 ปี พบว่าเด็กร้อยละ 12 เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาและขาดการดูแลที่ดีและมีคุณภาพ เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการ ทำให้ต้องเร่งพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน ปัจจุบันพบว่ามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในเกณฑ์ที่ควรได้รับการปรับปรุง 1,671 ศูนย์ และต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน 304 ศูนย จาก 21,654 ศูนย์ทั่วประเทศ

“ถือเป็นหน้าที่ สสส. ที่จะสนับสนุนผลักดันหน่วยงานและภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนทุกวัย โดยสร้างแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง การจัดงานครั้งนี้มุ่งสร้างคนดีมีคุณภาพ เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เพราะช่วงวัยนี้ คือ การเริ่มปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและหลักคิดที่ถูกต้อง การมีสุขภาวะที่ดีตั้งแต่ระดับปฐมวัย เป็นเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนายกระดับคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงหวังให้เกิดเครือข่าย อปท.ที่เข้มแข็งมาร่วมกันพัฒนายกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ” ดร.สุปรีดา กล่าว

รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย หรือ COACT ได้เสนอรูปแบบกระบวนการพัฒนายกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแบบก้าวกระโดดด้วยกระบวนการ Benchmarking ที่จะสามารถพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ประกอบด้วย 5 ระบบคุณภาพ คือ ระบบที่ 1 การบริหารจัดการ ระบบที่ 2 การจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบที่ 3 การจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ระบบที่ 4 การดูแลสุขภาพเด็ก และระบบที่ 5 การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 273 แห่ง ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุงและที่สมัครใจ เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพ ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น และมีระบบการดูแลส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ

"ปัจจุบันเด็กอายุ 2-5 ปี ร้อยละ 30 อยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากความหลากหลายของรูปแบบการพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้ต้องมีมาตรฐานกลางในการดูแลเด็กปฐมวัย คือ มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ " รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมอนามัยพร้อมสนับสนุนส่งเสริมในฐานะที่ปรึกษาในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้มีการส่งเสริมพัฒนาการ ช่วยเหลือและส่งต่อเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล้าช้าอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไปโดยการพัฒนาเด็กปฐมวัย ถือว่าเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการเต็มศักยภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ อย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องอาหาร การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เฝ้าระวังการเจริญเติบโต และป้องกันโรค อย่างต่อเนื่อง

นายจรัญ ดวงสะเก็ด นายกเทศมนตรีตำบลวังผาง จังหวัดลำพูน ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย จะสำเร็จได้ หากผู้บริหาร อปท. รพ.สต. ผู้ปกครองและชุมชน ให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพ สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในแต่ละแห่ง และนำผลการดำเนินงานที่ดีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เชื่อว่าจะกลายเป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย และเกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งที่จะนำไปขยายผลการพัฒนาในพื้นที่อื่นต่อไป