ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายฯ และรัฐมนตรี สธ.ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 3 อำเภอในร้อยเอ็ด พบสถานบริการรับผลกระทบ 3 แห่ง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการปชช. 6 จุด ยังไม่พบโรคระบาด

ภาพจากเฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุ “โพดุล” ที่จุดพักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วม วัดบ้านนาแซง/บ้านท่าเยี่ยม/บ้านไค่นุ่น อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมเดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านไค่นุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสังคมออนไลน์ยังได้แชร์ภาพที่นายอนุทิน ขับเครื่องบินส่วนตัวเพื่อลงพื้นที่เยี่ยมและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยได้มีการถ่ายภาพระหว่างขับเครื่องบิน ร่วมกับ นพ.สุขุม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งนายอนุทินได้โพสต์ภาพดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้มาในนามตัวแทนรัฐบาล ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเป็นใยพี่น้องตลอดเวลาที่ใดมีความทุกข์ยากมีอุบัติภัยทั้งหลายก็จะต้องมีตัวแทนจากรัฐบาลเข้ามาดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ได้สั่งการตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นให้มาลงพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ดว่าต้องเฝ้าระวังขั้นวิกฤต แต่วันนี้ฟ้าฝนเป็นใจ และทราบว่าพายุโพดุลได้เคลื่อนตัวผ่านไปแล้วท้องฟ้าค่อนข้างแจ่มใส

“วันนี้ผมมาในนามตัวแทนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมาดูแลเรื่องสุขภาพ โรคติดต่อและการเข้าถึงยาของประชาชนเวลามีน้ำท่วมก็จะเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลและโรคติดต่อรวมไปถึงความสะอาด เรื่องอนามัย
ต้องเตรียมยาให้พร้อม และช่วงหลังน้ำลด จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในเรื่องโรคติดต่อ โดยเฉพาะโรคเท้าเปื่อย โรคเท้าเน่า ในวันนี้เราได้เตรียมยามาให้ประชาชนอย่างเพียงพอทั้งชุดยังชีพ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ยารักษาน้ำกัดเท้า เสื้อชูชีพ และหน้ากากอนามัย” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ต่อจากนี้รัฐบาลจะต้องคิดหาวิธีจะทำอย่างไร ในเมื่อน้ำมาแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด เพราะเมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่แล้ว ยังเจอภัยแล้งอยู่เลย ในเมื่อน้ำมาแล้วก็อย่าปล่อยให้หายไปไหน วันนี้ท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดมีเทคนิคโดยการกักเก็บน้ำทำเป็นธนาคารน้ำอัดน้ำลงไปในใต้ดินและวิธีการผันน้ำ ลงไปสู่อ่างเก็บน้ำในแม่น้ำที่สามารถเรียกมาใช้ได้ตลอดเวลา
เป็นสิ่งที่เราจะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสที่จะทำให้พัฒนาความสามารถในการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 อำเภอ คือ อ.เสลภูมิ อ.โพนทอง และ อ.เมยวดี มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านกกทัน รพ.สต.บ้านนาวี และรพ.สต.บ้านไค่นุ่น โดยได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ 6 จุด ผู้มารับบริการส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผื่นคัน ยังไม่มีรายงานโรคระบาด พร้อมส่งทีมหมอครอบครัวร่วมกับ อสม.ออกเยี่ยมให้กำลังใจ แจกยาสามัญประจำบ้าน แจกถุงขยะ ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะช่วงน้ำท่วม เยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้านเพื่อดูแลสุขภาพ
พร้อมทั้งให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งประเมินภาวะซึมเศร้าของประชาชน ที่ศูนย์พักพิงศาลาประชาคมบ้านน้อยสามัคคี/ ศาลาวัดบ้านนาแซง และให้การดูแลเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เสี่ยงต่ออุทกภัยทางน้ำ ที่เทศบาลตำบลวังหลวง

ทั้งนี้ ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ติดตาม สถานการณ์ น้ำท่วม ผลกระทบและการเตรียมความพร้อมทางด้านสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพ ประชาชน ในจังหวัดของเขตสุขภาพที่ 7สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำของเขื่อนต่าง ๆ