ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.แจงประกาศกระทรวงฯ สารสกัดกัญชา-กัญชง “ CBD บริสุทธิ์ -THC น้อยกว่า 0.2 %” ไม่จัดเป็นยาเสพติดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วน อย.เตรียมออกกฎระเบียบรองรับ นำเมล็ด/น้ำมันเมล็ดกัญชงใช้อุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องสำอาง

หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ 2 ฉบับเกี่ยวกับประเด็นกัญชาและกัญชง โดยฉบับแรก คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีสาระสำคัญคือ กำหนดเพิ่มเงื่อนไขสำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ลำดับที่ 1 คือ กัญชา และลำดับที่ 5 คือ กัญชง โดยมีเงื่อนไขการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และฉบับที่ 2 คือ ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญคือ กำหนดลักษณะกัญชงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการผลิต การนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์กัญชง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า จริงๆแล้วประกาศดังกล่าวเปิดให้มีการใช้ที่ไม่ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือยังคงเป็นยาเสพติดอยู่

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงฯ ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาและกัญชงและบางส่วนของพืชกัญชง ให้ไม่ต้องถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยา นำรายได้เข้ามาสู่ประเทศต่อไป โดยประกาศฯ ได้กำหนดให้สารสกัดในพืชกัญชงและพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ แคนนาบิไดออล (CBD) บริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลักและสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในสัดส่วนที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 เช่นเดียวกับหลายประเทศ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการผลิตยาหรือสมุนไพร

นายอนุทิน กล่าวว่า รวมทั้งในกรณีของกัญชง ได้มีการยกเว้นให้เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp seed /Hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (Hemp seed extract) ให้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้ นอกจากนี้ ในระยะ 5 ปีแรกยังกำหนดให้ยกเว้นเฉพาะสำหรับการผลิตในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศได้ใช้ประโยชน์จากกัญชงในการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่น นอกเหนือจากประโยชน์ด้านเส้นใย เพื่อพัฒนาพืชกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ยังได้ออกประกาศกำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ แยกพืชกัญชงกับพืชกัญชาให้ชัดเจนด้วย โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ อย. อยู่ระหว่างเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงการอนุญาตเกี่ยวกับกัญชง พ.ศ. 2559 จากเดิมที่มีบทเฉพาะกาล 3 ปีให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐขออนุญาตได้ เป็นให้ภาคเอกชนสามารถขออนุญาตได้ด้วย และเปิดกว้างให้สามารถพัฒนาการปลูกกัญชงไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากเดิมที่เน้นการใช้ประโยชน์เส้นใย พร้อมกันนี้ อย. จะต้องออกกฎ ระเบียบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เพื่อให้รองรับการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าของกัญชง เพื่อพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศต่อไป ขอให้ผู้ประกอบการที่มีความสนใจจะดำเนินการเกี่ยวกับกัญชง ติดตามความคืบหน้าได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ปลดล็อก ใช้ประโยชน์จากสารสำคัญใน ‘กัญชา-กัญชง’ ได้ ยกเว้นไม่เป็นยาเสพติด

ป.ป.ส.เตือน ปชช.อย่าเข้าใจผิดว่า ประกาศ สธ. มีผลให้ ‘กัญชา-กัญชง’ ถูกกฎหมาย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง