ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วารสารจุลนิติ (สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา) เผยแพร่บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และ ดร.อนันตชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับมุมมองใหม่ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ สำนักข่าว Hfocus เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ โดยได้รับอนุญาตจากวารสารจุลนิติแล้ว

คอลัมน์ บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ

ชื่อเรื่อง มุมมองใหม่ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะ [๑] ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เขียน กองบรรณาธิการ วารสารจุลนิติ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

จุลนิติ : ขอทราบถึงที่มา แนวคิด และประสบการณ์เกี่ยวกับสิทธิการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ในกรณีศึกษาของต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะฯ : ในต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ(United Nation : UN) ได้เปิดให้ใช้กัญชาได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๑ แต่สำหรับประเทศไทยเรายังไม่มีความพร้อมเรื่องระบบการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นกัญชาหรือฝิ่นก็ตาม เราไม่ได้พร้อมเรื่องการปลูก เขาก็เลยไม่ปลูกแต่นำเข้าผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นมอร์ฟินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน หากจะยกตัวอย่างของต่างประเทศ เราแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มประเทศใหญ่ ๆ ได้แก่ ทางประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศแคนาดา และทางฝั่งยุโรป ซึ่งมีความต่างกันคือ ประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศแคนาดา เปิดให้นำกัญชาเป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ใช้ทั้งด้านการแพทย์และนันทนาการด้วย ซึ่งในความเป็นจริง คำว่า “เสรี” ก็ยังต้องมีการจัดโซนนิ่ง เพื่อกำหนดพื้นที่ในการเสพเหมือนโรงฝิ่นของบ้านเราในสมัยก่อน แต่ทางฝั่งยุโรปไม่ได้ให้เสพและใช้เพื่อนันทนาการและจะมีข้อจำกัดการควบคุมที่เข้มงวดมากกว่า สำหรับประเทศไทยเราเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ ไม่ใช่ในทางนันทนาการ ซึ่งในต่างประเทศมีองค์กรกลางในการกำกับดูแล การใช้กัญชาตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยเราก็ควรจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และวิจัย ซึ่งในเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รับทราบแล้วและจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป

จุลนิติ : การใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์ในอดีตที่ผ่านมานั้น มีข้อจำกัดตามกฎหมายไทยประการใด และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้กำหนดหลักการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ทางการแพทย์ไว้อย่างไรบ้าง และหลักการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์หรือส่งผลต่อประชาชนและประเทศชาติมากน้อยเพียงใด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะฯ : ภายหลังจากมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อม ไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ นั้น เป็นเรื่องที่สังคมไทยรับรู้รับทราบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ แล้วว่าจะมีการเปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ คือประเทศไทยเรามีความพร้อมด้านการปลูกกัญชาอยู่แล้ว เพียงแต่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีข้อกำหนดเรื่ององค์กรกลางในการกำกับดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์ กล่าวคือ ในกรณีที่มีการเพาะปลูกกัญชา หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดตั้งองค์กรกลาง หรือหน่วยงานกัญชาแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลเขตพื้นที่และที่ดินที่จะปลูกกัญชาและจัดตั้งระบบการออกใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบอยู่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว คือประเทศไทยมีการเปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ สปป.ลาว ก็ยังไม่ได้เปิดเสรีให้ใช้กัญชาเพราะยังไม่มีความพร้อมด้านการควบคุมดูแล แต่มีการนำเข้าเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเท่านั้น ทีนี้พอกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ กฎหมายได้เปิดเสรีให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริงคือ ไม่มีกัญชาในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย นี่คือประเด็นปัญหาของประเทศไทย เราไม่มีการเตรียมความพร้อมใด ๆ และไม่มีระบบการเยียวยา ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคต้องไปหากัญชา มาจากแหล่งที่ไม่อาจเปิดเผยได้ ทำให้เกิดความสับสนแยกไม่ออกระหว่างพวกธุรกิจที่ถูกและผิดกฎหมาย พวกที่เสพเพื่อนันทนาการสนุกสนาน หรือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการรักษา คือแยกไม่ออกแล้วว่าใครเป็นผู้ป่วยหรือพวกแอบแฝงเป็นผู้ป่วย ปัญหาต่อมาคือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะดำเนินการปราบปรามก็ทำได้ไม่ค่อยถนัดนัก เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรม มนุษยธรรม และยากที่จะแยกแยะออกได้ว่าใครเป็นใคร ดังนั้น หากจะเปิดให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีทางการแพทย์และให้เป็น พืชทางเศรษฐกิจด้วย เราจะต้องมีระบบกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพโดยทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้จริง และต้องแยกแยะผู้ป่วยกับผู้ที่แอบแฝงเป็นผู้ป่วยให้ได้ เมื่อถึงจุดนั้นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก็จะสามารถทำได้อย่างประสบผลสำเร็จ

อย่างไรก็ดี โดยหลักแล้วผู้เสพกัญชาคือผู้ป่วย ถ้าครอบครองเกิน ๑๐ กิโลกรัมขึ้นไป กฎหมายสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อขาย เมื่อเราย้อนกลับมามองสภาพบ้านเมืองของเรา ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ กัญชาสามารถปลูกตามบ้านเรือนได้โดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ชาวบ้านก็ปลูกกันทุกที่ เอาไว้ใช้ปรุงรสอาหาร ใช้รักษาโรค ซึ่งถือเป็นวิถีของชาวบ้าน ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มีผลใช้บังคับ กัญชาก็กลายเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ จนถึงปัจจุบันเมื่อมีการเปิดให้ใช้กัญชาเสรีในทางการแพทย์แล้ว ผลปรากฏว่า ไม่มีกัญชาเพียงพอให้ใช้ เรายังไม่ต้องพูดถึงการเปิดเสรีกัญชาให้สามารถปลูกได้ที่บ้านตาม วิถีชาวบ้าน หรือการเปิดเสรีให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด คำถามคือ เราต้องทำอย่างไรจึงจะมีกัญชาเพียงพอสำหรับการรักษาโรคและใช้ในทางการแพทย์

ทั้งนี้ เราเห็นว่ามาตรการในการกำกับดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์มี ๔ ประการ ดังนี้

(๑) ในระยะต้น องค์กรกลางหรือ อย.ต้องจัดสรร Value Chain และ Supply Chain ให้มีประสิทธิภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ จึงควรมีการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นเพื่อกำกับดูแลกัญชา กัญชง และพืชกระท่อม แยกออกมาต่างหากเป็นหน่วยงานกัญชาแห่งชาติ ซึ่งประเด็นนี้ ทาง ป.ป.ส. ก็รับทราบแล้วและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการขออนุญาตเพาะปลูก ผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทันต่อเวลาไม่ให้เกิดความขาดแคลนและสับสนอย่างเช่นที่เกิดขึ้น ในทุกวันนี้ นอกจากนี้ ต้องมีการกำกับดูแลแบบองค์รวม พร้อมทั้งเร่งจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ รวมถึงแนะนำวิธีการใช้ ข้อบ่งใช้ที่ถูกต้อง เพราะตอนนี้ยังมีการใช้แบบผิดวิธีอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การใช้โดยนับตาม “หยด” ซึ่งมีอยู่ ๒ ความหมาย หนึ่งคือ ขนาดหยดของแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน และสองคือ การตอบสนองต่อยาในแต่ละคนไม่เท่ากัน นอกจากนี้ เราต้องมีการแจกหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้แก่ผู้ป่วยให้เพียงพอในระยะเปลี่ยนผ่านนี้

(๒) ส่งเสริมให้มีการปลูกกัญชาในชุมชนเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เดิมเรามองกัญชาและ กัญชง[๒]เป็นกัญชาทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกัญชาและกัญชงเป็นญาติกัน โดยกัญชงไม่มีอันตราย มีแต่ประโยชน์ และมีประโยชน์มากกว่าการเป็นยาอีกด้วย กัญชงจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจ หากแยกแยะกัญชากับกัญชงได้ คำว่าส่งเสริมเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นมาได้ อันนี้เรียกว่าตลาดบน ต่อมาคือตลาดชุมชน เสนอว่าควรรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นคนให้ความรู้เรื่องวิธีการใช้ ข้อบ่งใช้ และควบคุมดูแลว่ามีผู้ป่วยจริง ให้ชุมชนควบคุมดูแลกันเอง เป็นลักษณะของการกระจายอำนาจ และเป็นการให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการรักษาตนเองแบบวิถีชาวบ้าน เราไม่ควรกังวลแต่เรื่องการควบคุมดูแลมากจนเกินไป ยกตัวอย่างกรณีการอนุญาตให้ใช้ยา Pseudoephedrine ที่ใช้รักษาอาการคัดจมูก เมื่อมีการนำตัวยานี้ไปใช้ เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ยาชนิดนี้จึงไม่สามารถซื้อจากร้านขายยาทั่วไปได้ จะมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น อย่างนี้เป็นตัวอย่างของวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ในอนาคตเราควรจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาบริหารจัดการโดยอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการกันทุกภาคส่วนให้มากยิ่งขึ้น

(๓) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา สำหรับเศรษฐกิจของตลาดบนนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน ห่วงโซ่อุปทาน หรือเครือข่ายโลจิสติกส์ คือการใช้ระบบของหน่วยงาน คน เทคโนโลยี กิจกรรม ข้อมูลข่าวสาร และทรัพยากร มาประยุกต์เข้าด้วยกัน โดยแยกผลิตภัณฑ์ตามความเสี่ยง ตั้งแต่ปรับปรุงพันธ์ ขยายพันธุ์ ปลูกต้นกล้า เพาะเมล็ด พัฒนาตำรับ ไปจนถึงการรับรองตำรับอย่างเป็นรูปธรรม สามารถจำหน่ายได้ครบวงจรโดยมีองค์กรกลางกำกับดูแล แบบ Commercial production and sale ถ้าจะทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ก็ต้องทำแบบครบวงจร โดยมีองค์กรกลางเข้ามากำกับดูแล

(๔) ให้กัญชาเป็นวาระแห่งชาติ ข้อนี้สำคัญที่สุด เราต้องให้ความรู้กับทุกภาคส่วน ข้อมูล กฎหมาย และมาตรการในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ เพราะในปัจจุบันแพทย์ในโรงพยาบาลเดียวกันก็ยังถกเถียงเรื่ององค์ความรู้กันอยู่เลย เรื่ององค์ความรู้ที่ควรรู้ คือ ๑. ประเภทของผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ๒. วิธีใช้ ข้อบ่งใช้ ๓. เมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันแล้วจะมีผลกระทบต่อการรักษาหรือไม่ อย่างไร คือมีเพียงสามเรื่องเท่านั้นที่สำคัญที่สุด

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ การวิเคราะห์สถานการณ์หลังจากที่มีการเปิดให้ใช้กัญชาอย่างเสรีในทางการแพทย์ เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้จะต้องแก้ไขอย่างไร ต่อไปเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ หากเห็นว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเสรีในทางการแพทย์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว อาจมีการเปิดเสรีการใช้กัญชาให้กว้างยิ่งขึ้น โดยจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมากำกับดูแลแยกต่างหาก เช่นเดียวกับ The Office of Medicinal Cannabis (OMC) ของประเทศเนเธอร์แลนด์

จุลนิติ : ในทัศนะของท่านเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาได้อย่างเสรีและทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ หรือไม่ ประการใด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะฯ : หากเราพิจารณา คำว่า “เสรี” ตามแนวทางของคณะกรรมการสาธารณสุขหรือคณะกรรมการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... แล้วนั้น เราไม่ได้หมายถึงการใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการหรือใช้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่หมายถึงการใช้เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งการปลูกกัญชาได้อย่างเสรีเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เราอาจแบ่งออกได้เป็นหลายระดับด้วยกัน ได้แก่

ระดับแรก ความเสรีในการปลูกกัญชาในระดับครอบครัว แม้ว่าผู้ปลูกเองไม่ได้เจ็บป่วย แต่เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็สามารถปลูกและนำกัญชาภายในบ้านของตนเองในจำนวนที่พอเหมาะมาเพื่อใช้ในการรักษาได้ ซึ่งจำนวนที่พอเหมาะนั้นอาจจะไม่สามารถระบุได้ว่าต้องเป็น ๔ ต้น หรือ ๖ ต้น อย่างที่ต่างประเทศนิยมใช้กัน ด้วยเหตุที่ว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านไม่ได้ใช้เฉพาะดอกมาสกัด แต่ใช้ใบ ใช้ก้าน หรือใช้ดอกมาสกัดด้วย ฉะนั้น ในคนไข้บางคนที่ใช้สูตรตำรับของแพทย์แผนไทยโบราณซึ่งใช้ใบนำมาสกัด ทำให้อาจจะต้องปลูกถึง ๑๐ – ๑๒ ต้น เพราะต้องใช้ใบเยอะ แตกต่างจากการใช้ดอกเอามาสกัดเป็นน้ำมันซึ่งใช้ ๔ ต้นก็เพียงพอแล้ว กรณีนี้คือความเสรีในระดับครอบครัว

ระดับที่สอง ความเสรีในการปลูกหรือสกัดกัญชาในระดับชุมชน คำว่า “ชุมชน” ในที่นี้มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ การปลูกในบริเวณชุมชนที่สามารถควบคุมดูแลการปลูกและการนำไปใช้ได้ เช่น การปลูกในสถานีอนามัยหรือที่เรียกว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน (รพ.สต.) ที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล หรือแพทย์ครอบครัวอยู่ตรงนั้นเพื่อควบคุมดูแลด้วย ทำให้การปลูก การสกัด และนำมาใช้ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง หรืออีกกรณีหนึ่งที่มีการคิดกัน คือ การปลูกที่วัด ซึ่งในขณะนี้มีวัดมากมายที่ปลูกและใช้ใบหรือดอกมาสกัดเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วย อย่างไรก็ดี ทั้ง รพ.สต. และวัดจะต้องมีความสามารถ ในการควบคุมดูแลทั้งการปลูก การสกัด และการนำไปใช้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งร่วมมือร่วมใจของชุมชน อันได้แก่ เหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรืออาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยเราจะให้ความรู้แก่ อสม. และให้ อสม. เป็นผู้ให้คำแนะนำในการใช้กัญชาอย่างถูกวิธีให้กับ คนในหมู่บ้าน โดยมี อปพร. ซึ่งเป็นฝ่ายมหาดไทยเข้าไปควบคุมดูแลสอดส่อง ฉะนั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปลูกเองในครัวเรือน แต่สามารถเอากัญชาที่ปลูกในชุมชนมาใช้ได้ ในขณะเดียวกันก็จะมี อสม. เข้าไปช่วยดูแล สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถือเป็นการอบรมให้แก่คนกลุ่มเล็ก ๆ (อสม.) เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้กับคนกลุ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งเมื่อได้สารสกัดกัญชามาในอนาคตก็สามารถใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ว่าน้ำมันกัญชานั้น ๆ มีความเข้มข้นกี่มิลลิกรัม โดยไม่ต้องไปลองผิดลองถูกหรือซื้อหาจากแหล่งที่ไม่ได้มาตรฐานมาลองเองแบบผิด ๆ จนเป็นอันตรายต้องเข้าโรงพยาบาล กรณีนี้ถ้าเรารู้จำนวนปริมาณ จำนวนมิลลิกรัม ที่แน่นอน เวลาแจกจ่ายให้กับคนในหมู่บ้านหรือคนในชุมชน ก็สามารถระบุได้เลยว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไร อย่างไรก็ตาม การถ่ายทอดความรู้เรื่องการสกัดกัญชานั้นจะต้องให้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งควบคู่กันไปด้วย นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่จะใช้กัญชา ในพื้นที่นั้น ๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เพราะโรคบางโรค เช่น โรคตับ โรคไตซึ่งค่อนข้างรุนแรง สตรีมีครรภ์ หรือคนไข้ที่มีประวัติว่ามีอาการป่วยทางจิตหรือเป็นไบโพลาร์ หรือมีคนในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้ อาจมีข้อห้ามใช้ ซึ่งในกรณีนี้ควรหลีกเลี่ยงไปใช้สารสกัดอื่นแบบที่ไม่เมาแทน หรือที่เราเรียกว่า “กัญชง” ปัจจุบันเส้นใยกัญชงสามารถนำมาทำเสื้อ กระเป๋า และเชือกได้ เมล็ดกัญชงสามารถสกัดเป็นโอเมก้า ๓ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกมีความต้องการเป็นอย่างมาก ส่วนดอกกัญชงจะให้สารสกัดแบบที่ไม่เมา ต้นกัญชงจึงไม่ใช่สิ่งเสพติด แต่เนื่องจากต้นกัญชาและต้นกัญชงมีความคล้ายคลึงกันในหลายลักษณะ จนทำให้เกิดความสับสนและยากตอการจำแนก ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลจึงต้องห้ามปลูกต้นกัญชงไปด้วย ในกรณีเช่นนี้เราสามารถใช้กัญชงแทนกัญชาสำหรับคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่าไม่ควรใช้กัญชาได้

ดังนั้น ในระดับชุมชน ที่มีสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. วัด เป็นเครือข่ายเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในขณะเดียวกันก็ร่วมกันสอดส่องระมัดระวังมิให้เด็กและเยาวชนในชุมชนเข้าถึงและใช้งานไปในทางที่ผิดได้ ถือเป็นการใช้พลังประชาชนคอยควบคุม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการสร้างความสมานฉันท์ในชุมชนขึ้นแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ในการใช้บังคับกฎหมายหรือการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกัญชาต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ผู้ใช้เป็นคนป่วยและเป็นคนป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษาแผนปัจจุบันหรือการรักษาแผนปัจจุบันนั้น มีข้อจำกัด คือการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันหรือยาแผนปัจจุบันมีผลข้างเคียงเกินกว่าที่คนป่วยจะรับได้ ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนป่วยด้วยว่าทำไมจึงมีความจำเป็นต้องไปใช้กัญชาในการรักษาโรค

ระดับที่สาม ในระดับต่อมา คือ เราจะทำอย่างไรให้มีการปลูกกัญชาได้อย่างเสรีโดยถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้กำหนดให้มีการออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน[๓] หรือสหกรณ์การเกษตร[๔] ดังนั้น ในกรณีที่มีการปลูกกัญชาในครัวเรือน วัด หรือสถานีอนามัย ให้หัวหน้าหมู่บ้านรวบรวมรายชื่อผู้ที่ปลูกกัญชาทั้งหมด เพื่อไปติดต่อกับวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตรที่มีเครือข่ายอยู่ในทุกตำบลและหมู่บ้านในประเทศไทย เพื่อรวบรวมและจดทะเบียนเป็นผู้ปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบดูแลได้

สำหรับคำถามที่ว่า เราจะทำให้กัญชากลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจได้หรือไม่ นั้น เราเห็นว่าทำได้แต่ต้องเป็นการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นระดับ Mass Production คือ เป็นการผลิตในปริมาณมาก โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้แรงงาน และทำให้ต้นทุนต่อหน่วยมีราคาถูกลง โดยการแบ่งการปลูกกัญชาออกเป็นการปลูกเพื่อใช้ในการรักษาตนเอง และการปลูกเพื่อรักษาผู้อื่นนั้น ถือว่ามีความสำคัญมากในการที่ประชาชนคนไทยได้ใช้สิทธิของตนในการที่จะดูแลรักษาสุขภาพและชีวิตของตน และข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประชาชนมีสิทธิที่จะใช้กัญชาในรูปแบบที่คุ้นเคย กล่าวคือ เมื่อเคี้ยว ใบกัญชาแล้วหายปวดเมื่อยก็สามารถเคี้ยวได้ หรือปวดเข่า ปวดข้อ เป็นโรครูมาตอยด์ ก็สามารถที่จะทำน้ำมันกัญชาใช้เองได้ สิ่งนี้ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงการได้รับความคุ้มครองจากรัฐ โดยการที่รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาตนเองได้ย่อมส่งผลทำให้รัฐได้ประโยชน์โดยการประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขไปด้วย

สำหรับการปลูกในระดับภาคหรือประเทศนั้น ไม่ได้ปลูกไว้ใช้แต่เป็นการปลูกเพื่อนำไปให้โรงพยาบาล เพราะจากการคำนวณโรงพยาบาลต้องใช้กัญชาเดือนละไม่ต่ำกว่า ๕๐ - ๖๐ ตัน สังเกตได้จากการลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัวของผู้ป่วยตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ทางอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้ามาประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป ไม่ใช่เด็กหรือเยาวชนที่จะนำกัญชามาเสพ จึงทำให้เห็นว่ามีความต้องการใช้กัญชาในปริมาณมาก โดยผู้ที่มีกัญชาในครอบครองอยู่แล้วประมาณ ๔๔,๐๐๐ คน ซึ่งเป็นคนป่วยจริง และเมื่อมีความต้องการใช้กัญชาจำนวนมากขึ้น ทั้งจากโรงพยาบาล กรมการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก หรือหมอชาวบ้านที่มาขึ้นทะเบียนแล้ว จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของกัญชงด้วย เพราะสามารถนำมาทำเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และตอนนี้ในต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น นิยมนำเส้นใยกัญชงมาใช้ทดแทนเส้นใยสังเคราะห์เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหลักของชิ้นส่วนภายในรถยนต์ เช่น แผงประตู ถาดรอง เบาะส่วนหลัง และส่วนบุผนังที่เก็บของท้ายรถ เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าเปรียบเทียบคุณสมบัติของกัญชาและกัญชงในการรักษาโรคจะเห็นได้ว่า ต้นกัญชงนั้นก็มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้มากมาย เพียงแต่กัญชงไม่ทำให้เมาประสิทธิภาพในการรักษาจึงไม่เท่ากับกัญชา ดังนั้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและไม่สามารถใช้กัญชาได้ก็จะเลี่ยงมาใช้กัญชงแทน แต่ในขณะเดียวกันยังมีอีกหลายโรคที่จำเป็นต้องใช้กัญชาในการรักษา

ประเด็นต่อไป คือ เมื่อมีความต้องการใช้กัญชาจำนวนมาก มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ก็ต้องมีการวิจัยพัฒนาต่อยอด พัฒนาต่อยอดในที่นี้หมายความถึง เมล็ดพันธุ์กัญชา และคุณสมบัติ คือแต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติใดบ้างในพื้นที่ต่าง ๆ กัน เพราะสายพันธุ์เดียวกันหากปลูกในพื้นที่ต่างกันก็อาจจะได้ส่วนประกอบไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อมีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์แล้วจะทำให้เรารู้ถึงที่มาและสารประกอบของน้ำมันกัญชาในแต่ละขวดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา อีกประการหนึ่งคือวิธีการสกัด โดยการสกัดกัญชานั้นมีหลายวิธี เช่น ใช้แนฟทา (Naphtha)[๕] ใช้แอลกอฮอล์ (Alcohol) ซึ่งวิธีการสกัดแต่ละวิธีจะได้สารประกอบที่ไม่เหมือนกัน อีกประการหนึ่งคือเมื่อสกัดไปแล้วอาจมีกระบวนการอื่น เช่น การนำไปต้ม ซึ่งพอต้มแล้ว จากทำให้เมาก็จะเปลี่ยนเป็นไม่เมา ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ การเพาะปลูก การสกัด และกระบวนการภายหลังการสกัด ความรู้เหล่านี้จะช่วยรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยได้และสามารถส่งออกได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ได้มีตำราทางวิชาการระบุว่ากัญชามีคุณสมบัติเสริมฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื้องอกในสมอง เนื้องอกเต้านม มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ ได้อีกด้วย ดังนั้น หากจะผลิตกัญชาเพื่อการส่งออกก็สามารถขายได้ตั้งแต่เมล็ด ใบ ดอก น้ำมัน หรือแบบเป็นยาก็ได้ เป็นเศรษฐกิจทางการแพทย์หรือเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งในปัจจุบันเราต้องนำเข้ามาจากประเทศลาวและพม่า

จุลนิติ : บทสรุปและข้อเสนอแนะอื่น ๆ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และคณะฯ : สำหรับการใช้สิทธิของคนป่วยในการใช้กัญชานั้น

ประการแรก คือ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ สหภาพยุโรปได้ประกาศให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยอ้างอิงถึงหลักฐานขององค์การอนามัยโลกที่มีการสรุปประโยชน์ของกัญชา ทั้งในส่วนที่ของ CBD (Cannabidiol) ซึ่งเป็นตัวที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ทางอารมณ์หรือทางจิตประสาท และในส่วน ของ THC (Tetrahydrocannabinol) อันเป็นสารออกฤทธิ์หลักของกัญชาที่ส่งผลให้รู้สึกถึงความผ่อนคลายและออกฤทธิ์ทางจิตประสาทได้ เพื่อให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้ได้เต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประการที่สอง คือ บริษัทประกันควรจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทประกันจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายจากการนำกัญชามาใช้รักษาโรคลมชัก

ประการที่สาม คือ แพทย์ควรเริ่มศึกษาวิธีการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี และที่สำคัญควรให้เป็นวิจารณญาณของแพทย์แต่ละท่าน ในการวินิจฉัยว่าสมควรมีการใช้กัญชาในผู้ป่วยรายนั้นหรือไม่ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดชนิดของโรค เพราะหากแพทย์มีความชำนาญมากเพียงพอก็จะสามารถวินิจฉัยเองได้ เช่น โรคเอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากภูมิต้านทานทำร้ายตนเอง ทำให้มีผลกระทบกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งสามารถใช้กัญชาในการรักษาโรคเอสแอลอีนี้ได้และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยากดต้านภูมิคุ้มกันไปได้อย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน ที่สามารถใช้กัญชาร่วมกับยาแผนปัจจุบันในการรักษาได้ ข้อสำคัญคือ การใช้บัตรทอง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ควรครอบคลุมถึงการใช้กัญชาด้วย หากบัตรทองคุ้มครองถึงการใช้กัญชา ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องปลูกกัญชาเอง และไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย แต่สามารถมาพบแพทย์ได้เลย และในขณะนี้ภาครัฐได้มีการเร่งผลิตแพทย์โดยมีการอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้กัญชา ซึ่งกระผมก็เป็นวิทยากรร่วมอยู่ด้วย มีแพทย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว ๔๕๐ คน พรุ่งนี้ก็จะมีการอบรมแพทย์เพิ่มเติมอีก ๒๐๐ คน และรุ่นถัดไปอีก ๒๕๐ คน ส่วนมากเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน สำหรับแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐนั้น ขั้นต่อไปอาจมีการนำตัวแทนแพทย์และเภสัชกรจาก ๗๖ จังหวัด ประมาณ ๒๕๐ คน มาเข้ารับการอบรม เพื่อให้ประชาชนรวมไปถึงชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุดโดยที่ไม่เสียเงินมากและสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในประเทศไทยอยู่แล้วได้ อันนี้ คือ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์

[๑] ดร.อนันตชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

[๒] กัญชงหรือเฮมพ์ (Cannabis sativa L.subsp. sativa) และกัญชา (Cannabis sativa L.subsp. indica) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์เดียวกันคือ Cannabis sativa L. เพราะมีต้นกำเนิดมาจากพืชเดิมชนิดเดียวกัน ลักษณะภายนอกหรือสัณฐานวิทยาของพืชทั้งสองชนิดนั้นจึงไม่แตกต่างกันหรือมีความแตกต่างกันน้อยมากจนยากในการจําแนก แต่จากการที่พืชทั้งสองชนิดนี้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงทําให้มีการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติดีและเหมาะสมที่สุด ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ จึงมีความแตกต่างกันชัดเจนมากขึ้นระหว่างต้นกัญชาที่เป็นยาเสพติดและกัญชงที่ใช้เป็นพืชเส้นใยในปัจจุบัน.

[๓] วิสาหกิจชุมชน (community enterprise) หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใด หรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน.

[๔] สหกรณ์การเกษตร คือ สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ผู้มีอาชีพทางการเกษตรรวมกันจัดตั้งขึ้น และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่อนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิก และช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น.

[๕] แนฟทา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ เป็นน้ำมันส่วนเบา อยู่ระหว่าง Gasoline และ kerosene ใช้เป็นน้ำมันเบนซินที่ใช้กับเครื่องรถยนต์ หรือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง