ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือนักวิจัยด้านไข้มาลาเรียจากนานาชาติดำเนินโครงการ “การศึกษาการติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย” ด้วยนวัตกรรมฟาสต์แทร็ก ชี้ลดเวลาการพัฒนาและประเมินวัคซีนจาก 30 ปี เหลือ 10 ปี สร้างแพลทฟอร์มใหม่การพัฒนาวัคซีนของโลก

รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์

รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึง โครงการ “การศึกษาการติดเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย” (Malaria Infection Study Thailand: MIST) ว่าเป็นความร่วมมือของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน โดยหน่วยวิจัยมหิดลไวแว็กซ์ (MVRU) และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) กับนักวิจัยนานาชาติ พัฒนากระบวนการในการประเมินวัคซีนด้วยการใช้ “นวัตกรรมแบบเร่งด่วน หรือ ฟาสต์แทร็ก” มาช่วยลดระยะเวลาจากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 20 - 30 ปี ให้เหลือเพียง 10 - 15 ปี

โครงการนี้จะเริ่มจากการพัฒนากระบวนการในการทดสอบวัคซีนไข้มาลาเรียสายพันธุ์ไวแว็กซ์ ซึ่งเป็นการตัดตอนที่ต้นเหตุของโรค หากประสบความสำเร็จกระบวนการนี้จะถูกนำไปใช้กับการพัฒนาวัคซีนของโรคชนิดอื่นๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาวัคซีนของโลกและประเทศไทยได้รวดเร็วขึ้น

“สาเหตุที่เริ่มจากการทดสอบวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรีย เพราะปัจจุบันทั่วโลกกำลังวิตกกับสถานการณ์เชื้อดื้อยาของไข้มาลาเรียที่กลับมาแพร่ระบาด ขณะที่รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญและตั้งเป้ากำจัดไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศภายในปี 2567 สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าจะให้ไข้มาลาเรียหมดไปจากโลกภายในปี 2573

ดร.นิโคลัส เดย์

ด้าน ดร.นิโคลัส เดย์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ร่วมใช้นวัตกรรมฟาสต์แทร็กในการพัฒนากระบวนการในการทดสอบวัคซีน ซึ่งทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนของมหิดลได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพและความพร้อมตั้งแต่กระบวนการศึกษา พัฒนา ตรวจคัดกรอง วิจัย และติดตามผล โดยกระบวนการทดสอบครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการนำยุงที่มีเชื้อมาลาเรียไวแว็กซ์ ซึ่งเพาะจากห้องทดลองที่ปลอดภัยสูงของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนส่งออกไปวิจัยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และได้มีการส่งนักวิจัยเข้าร่วมดำเนินการและร่วมสังเกตการณ์กับนักวิจัยจากนานาชาติ เราจึงมีองค์ความรู้และประสบการณ์พร้อมความเชี่ยวชาญนำมาทำในประเทศไทย

หัวใจนวัตกรรมฟาสต์แทร็ก คือ การใช้กระบวนการจำลองการศึกษาในมนุษย์ ซึ่งต้องดำเนินการพร้อมกันทั้งในพื้นที่แหล่งรังโรคและนอกแหล่งรังโรค เพราะคนในแต่ละภูมิภาคจะมีพันธุกรรมและภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน จึงต้องติดตามผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพแบบคู่ขนาน ซึ่งการที่เลือกไทยเป็นที่ศึกษาก็เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งรังโรคสำคัญ

“การทดสอบประเมินประสิทธิภาพวัคซีนไข้มาลาเรียด้วยวิธีฟาสต์แทร็กเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และโคลัมเบีย โดยกระบวนการนี้ถือว่ามีความปลอดภัย มีมาตรฐานสูง มีประสิทธิภาพและประสบผลเป็นที่น่าพอใจ จนสามารถนำวัคซีนที่ทดสอบแล้วบางตัวไปเริ่มใช้ในทวีปแอฟริกา ซึ่งการทดสอบในประเทศไทยคาดจะเริ่มเดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป”

ดร.เจตสุมน สัตตบงกช

ขณะที่ ดร.เจตสุมน สัตตบงกช ประจำศรี ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยมหิดลไวแว็กซ์ กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญของกระบวนการจำลองการศึกษาในมนุษย์ มี 4 ข้อ คือ 1. มีนักวิจัยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 2. มีองค์ความรู้และมีงานวิจัยจากนานาประเทศผสานความชำนาญในการดูแลรักษาโรค 3. มีห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ที่พร้อมตรวจสอบ ติดตาม ประมวลผล และ 4. มีจริยธรรม ธรรมาภิบาลและมาตรฐานในทุกขั้นตอนที่ดำเนินอย่างเคร่งครัด

หากโครงการนี้สำเร็จจะช่วยให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดของไข้มาลาเรียชนิดไวแว็กซ์สามารถกำหนดมาตรการในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดไข้มาลาเรียชนิดไวแว็กซ์ได้อย่างถาวร ทั้งเป็นโมเดลสำหรับพัฒนาวัคซีนในอนาคตเนื่องจากช่วยย่นเวลาทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน ลดงบประมาณที่ต้องใช้ในการทดสอบ รวมถึงจำนวนอาสาสมัครในการเข้าร่วมโครงการ