ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ.เผยเป้าหมายกระทรวงฯ เดินหน้าขยายผล “ODS” ผ่าตัดวันเดียว พร้อมพัฒนาสู่ “MIS” ผ่าตัดเล็ก พบช่วยลดความแออัดโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 กรมการแพทย์จัดการประชุมสัมมนาวิชาการ “ODS: Next Step To MIS 2019” โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “ODS กับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทางสาธารณสุขของประเทศ”

นพ.ประพนธ์ เปิดเผยว่า ทิศทางดำเนินงานของการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (ODS) และการพัฒนาไปสู่การผ่าตัดแผลเล็ก หรือผ่าตัดผ่านกล้อง (MIS) หลังจากนี้จะถูกขยายผลมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป้าหมายสำคัญในการลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดระยะเวลาการรอคอยผ่าตัด ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา อีกทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย

ทั้งนี้ สธ.ได้มองเรื่องของ ODS มาตั้งแต่ปี 2561 โดยถูกผลักดันจากทั้งรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงฯ ที่บรรจุเรื่องนี้ไว้ในคู่มือคำรับรองการปฏิบัติราชการ (PA) ซึ่งแม้ในปี 2562 จะไม่ได้มีการบรรจุไว้ใน PA แต่ ODS ยังจะคงเดินหน้าทำต่อเพื่อความเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“ความจริงการผ่าตัดและหัตถการหลายอย่างไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หรือนอนไม่นาน แต่หลายกรณีที่ต้องนอนเพราะระบบการเบิกจ่ายที่ยังอิงจากค่าเฉลี่ยวันนอน หรือนอนนานได้เงินเพิ่ม เช่นเดียวกับการให้มานอนก่อนผ่าตัด 1 วันที่ทำกันด้วยความเคยชิน เหล่านี้เป็นการเพิ่มวันนอนที่ไม่จำเป็น รวมถึงการดูแลหลังการผ่าตัดหลายอย่างที่ไม่ต้องการการดูแลซับซ้อน สามารถให้ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมดูแลได้เอง นับเป็นการร่วมจ่ายในรูปแบบแรงงาน ลดภาระงานของทีมการดูแลรักษา” นพ.ประพนธ์ กล่าว

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข มีการวางแผนมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับทั้ง ODS และ MIS ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้รับบริการ เพิ่มประเภทหัตถการ เพิ่มจำนวนโรงพยาบาล โดยในแผนระยะสั้น 5 ปี จะมีการประเมินผลโครงการเป็นระยะ และเพิ่มขึ้นให้สามารถคลอบคลุมเขตสุขภาพต่างๆ เพื่อลดอัตราการแอดมิทได้

ขณะเดียวกันในส่วนของ MIS ที่จะทำในปีงบประมาณ 2563 คือการเพิ่มรายการผ่าตัดอีก 3 โรค และการปรับเงื่อนไขการจ่ายตาม DRGs เวอร์ชั่น 6 ที่สะท้อนต้นทุนสอดคล้องกับเทคโนโลยีปัจจุบันมากกว่า จากที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังใช้เวอร์ชั่น 5 ในการประมวลผลจ่ายชดเชยกรณีบริการแบบผู้ป่วยใน

นพ.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าโรงพยาบาลที่มีการดำเนินการตามนโยบาย ODS ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการวันเดียวหรือมีการนอนค้างคืนเดียว เพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนค้าง 2 คืนนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ไม่มีการดำเนินตามนโยบาย ดังนั้นหากมีการดำเนินการเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยที่ใช้เวลาหลายวันจะต้องลดลงได้อย่างแน่นอน