ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สแกนความรู้เรื่องกัญชาประจำเดือนกันยายน 2562 (Journal Scanning on Cannabis: September 2019)

1. คำถาม: เติม CBD เข้าไป จะช่วยลดผลต่อจิตประสาทจาก THC ไหม?

คำตอบ: CBD ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ THC ทำให้เคลิ้ม และสมรรถนะด้านความจำและการขับขี่แย่ลง ไม่สามารถช่วยได้ด้วยการเติม CBD

ข้อสรุป: เสพกัญชา และผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชา ที่มี THC เข้าไป ความจำจะเสื่อม ขับขี่ยานพาหนะจะเสี่ยงตายเสี่ยงเจ็บเสี่ยงพิการเยอะขึ้น เติมอะไรเข้าไปเพิ่มก็ช่วยอะไรไม่ได้...เหมือนที่เรารู้กันคือ ทำบาปแล้ว จะเอาอะไรมาลบล้างคงไม่ได้ครับ

2. คำถาม: เฮ้ยๆ...ใช้กัญชากันเหอะ สุขภาพกายสุขภาพใจและคุณภาพชีวิตจะดีงาม คนปรามเรื่องกัญชาน่ะอย่าไปเชื่อมัน มันไม่เคยใช้กัญ จริงจริ๊ง เชื่อไหม?

คำตอบ: ศึกษาในคนใช้กัญชาที่ลอสแองเจิลลิสปี 2017-2018 ติดตามดู พบว่า ยิ่งเสพกัญชา ยิ่งเกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ ยิ่งเสพบ่อยยิ่งแย่

ข้อสรุป: อย่าไปเชื่อเลยครับ ยาเสพติดน่ะ มีไหมที่ทำให้ชีวิตดีในระยะยาว รู้ๆ กันอยู่แล้ว โปรดดำรงชีวิตโดยใช้สติ ปัญญา ลดละเลิกการใช้ชีวิตตามกิเลสและอารมณ์

3. คำถาม: กัญชารักษาได้ทุกโรค...เค้าลือกันให้แซ่ด แล้วจะรักษาโรคทางหูคอจมูกได้มั่งป่ะ?

คำตอบ: มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชากับเรื่องโรคทางหูคอจมูก อดีตจนถึงปัจจุบัน 79 เรื่อง ส่วนใหญ่ตีพิมพ์มานานแล้ว และมักพยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเสพกัญชากับโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบหูคอจมูก มีงานวิจัยน้อยชิ้นนักที่พยายามชี้ให้เห็นว่าอาจลองนำมาใช้ในโรค Blepharospasm และใช้ลดอาการข้างเคียงจากการฉายรังสี และผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง แต่สุดท้ายแล้วยังไม่ได้รับการพิสูจน์เลยว่าจะได้ผลจริง

ข้อสรุป: กัญชายังไม่มีที่ใช้ในการรักษาโรคหูคอจมูก

4. คำถาม: เสรีกัญชาไปเล้ยยยย เดี๋ยวปัญหาบุหรี่จะหมดไปจากประเทศไทย เชื่อฉันเหอะ เชื่อมั๊ยยยยย?

คำตอบ: เค้าลองศึกษาในเด็กวัยรุ่นใน 3 โรงเรียน จำนวนราว 5,000 คน ที่แคลิฟอร์เนีย พบว่า เอายาเสพติดมาหวังจะให้ทดแทน จะกลายมาเป็นการสร้างปัญหา เพราะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเสพทั้งบุหรี่และกัญชาไปทั้งสองอย่าง ยิ่งหากมีประวัติสูบบุหรี่ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จะมีโอกาสที่จะเสพกัญชาด้วยสูงขึ้นราว 3.2-5.5 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้สูบบุหรี่ ในขณะที่หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ตกอีหรอบเดียวกันคือจะมีโอกาสเสพกัญชาแบบกินราว 2.5 เท่า และแบบสูบ 4 เท่า

ข้อสรุป: กัญชาจะกระหน่ำให้ปัญหายาเสพติดมากขึ้น ที่น่าจับตาคือในเด็กวัยเรียน วัยรุ่น เยาวชน

5. คำถาม: เสรีกัญชาไปเล้ยยยย เดี๋ยวปัญหาเหล้าและอาชญากรรมจะหมดไป ประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรือง เชื่อฉันเหอะ เชื่อมั๊ยยยยย?

คำตอบ: เค้าลองศึกษาในคนอายุ 15-20 ปี ใน 24 ชุมชน กระจายใน 7 มลรัฐของอเมริกา ตั้งแต่ปี 2015-2016 จำนวนกว่า 2,600 คน จำนวนชายต่อหญิงพอๆ กัน พบว่า เวลาจัดปาร์ตี้ มีราวร้อยละ 72.3 ที่ดื่มเหล้าเพียงอย่างเดียว แต่มีราวร้อยละ 22.5 ที่เอาทั้งเหล้าและกัญชา แต่ไอ้พวกที่กัญชาเพียวๆ มีน้อยเพียงร้อยละ 5.2

ที่สำคัญคือ ไอ้พวกที่เอาทั้งเหล้าและกัญชานั้น จะมีปัญหาทั้งเรื่องอาการเมาค้าง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น และมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน มากกว่าพวกที่ดื่มเหล้าอย่างเดียวถึง 4 เท่า

ข้อสรุป: จะพูดยังไงดีหว่า...เอาเป็นว่า สังคมไทยมีเหล้ากับบุหรี่ก็หนักหนาจนคุมไม่ได้ แต่เอากัญชาเข้ามาแบบที่เห็น คงจะเละเทะเกินบรรยาย

ป.ล. ฝากถึงคนที่อยู่ในบทบาทหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ ว่า ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก คิดดีทำดี และกล้าหาญที่จะทัดทานอำนาจที่ใช้โดยมิชอบ น่าจะดีกว่าการเออออห่อหมกทำตามแบบซ้ายหันขวาหัน เพราะสุดท้ายแล้ว บางครั้งการยอมครั้งนี้ อาจเกิดผลเสียในระยะยาวที่แก้ไขไม่ได้ครับ

ปัจจุบันกัญชากลายเป็นเรื่อง Delusional Belief...ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกชี้นำโดยข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

1. Arkell TR et al. Cannabidiol (CBD) content in vaporized cannabis does not prevent tetrahydrocannabinol (THC)-induced impairment of driving and cognition. Psychopharmacology (Berl). 2019 Sep;236(9):2713-2724.

2. Liao JY et al. Relationships between marijuana use, severity of marijuana-related problems, and health-related quality of life. Psychiatry Res. 2019 Sep;279:237-243.

3. Valentino WL et al. What is the evidence for cannabis use in otolaryngology?: A narrative review. Am J Otolaryngol. 2019 Sep-Oct;40(5):770-775.

4. Nguyen N et al. Past 30-day co-use of tobacco and marijuana products among adolescents and young adults in California. Addict Behav. 2019 Nov;98:106053. doi: 10.1016/j.addbeh.2019.106053. Epub 2019 Jul 15.

5. Egan KL et al. More drugs, more problems? Simultaneous use of alcohol and marijuana at parties among youth and young adults. Drug Alcohol Depend. 2019 Sep 1;202:69-75. doi: 10.1016/j.drugalcdep.2019.07.003. Epub 2019 Jul 6.