ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ที่ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ  ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด 


 นายณัฏฐชัย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและภาคีเครือข่ายทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาบริการออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมักเกิดจากผู้ให้บริการไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีระบบตรวจสอบที่ชัดเจน ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการซื้อสินค้า ทั้งตัวตนที่แท้จริง รายละเอียดสินค้าและสัญญา นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การหลอกขายสินค้า การได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา สินค้าเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งก่อนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวผู้บริโภค โดย MOU ฉบับนี้ จะเป็นกรอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพร่วมกัน เพื่อให้การซื้อขายในตลาดออนไลน์มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น


 นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ตลาด  e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่านี้จะเพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วน B2C (การขายสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง) สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าปี 2559 กับปี 2560 พบว่าเพิ่มถึงกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีระบบ e-Payment ที่สะดวกและขนส่งรวดเร็ว คนจึงหันมาซื้อของออนไลน์สูงขึ้น อย่างไรก็ตามสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน 

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า บันทึกข้อตกลง (MOU) ฉบับนี้ครอบคลุมสาระสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ 1) การตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2) การแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3) การมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4) ระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน 5) นโยบายความเป็นส่วนตัว 6) ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคสามารถติดต่อประสานได้ง่าย และรายงานผลกลับให้ทราบภายใน 15 วัน และ 7) การมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค