ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สภาเภสัชกรรม สปสช. ร่วมเดินหน้านโยบาย ผู้ป่วยรับยาร้านยา 1 ต.ค. นี้ เตรียมความพร้อม รพ.และร้านยาดูแลประชาชน ลดความแออัด รพ. พร้อมแนะตรวจสอบรายชื่อ รพ./ร้านยาเข้าร่วมผ่านเว็บไซด์ สปสช.

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากโครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบันตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเริ่มให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และ สปสช.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการดำเนินการในทุกด้าน ที่ผ่านมานอกจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความเห็น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 แล้ว ยังได้มีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา รวมถึงการเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในการบริหารจัดการตามนโยบายนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีบทบาทหน้าที่ โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายบริหาร คัดเลือกโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในสังกัดเข้าร่วมดำเนินการ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน พร้อมดำเนินการปรับปรุงระเบียบต่างให้สอดคล้อง รวมถึงกำกับติดตามผลการดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือถึงอธิบดีทุกกรมในสังกัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ลงนามโดย นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมจะมีบทบาทในฐานะองค์กรวิชาชีพ นอกจากการชวนร้านยาแผนปัจจุบันเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังมีบทบาทในการกำกับติดตามคุณภาพร้านยาในภาพรวม เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายนี้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และจะทำการพัฒนาหลักสูตรการอบรมและหลักสูตรศึกษาต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วยโดยร้านยาในระบบสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการสุ่มตรวจประเมินติดตามโครงการเพื่อความปลอดภัยกับผู้ป่วยอีกด้วย ขณะที่ในส่วนของโรงพยาบาลจะเป็นแม่งานหลักในพื้นที่ โดยจะมีการตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงาน ทั้งการคัดเลือกร้านยาที่เข้าร่วมโครงการตามคุณสมบัติตามที่ สปสช.กำหนด รวมถึงการวางแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสมตามบริบทของโรงพยาบาลแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใบสั่งยาโดยเภสัชกรของโรงพยาบาลก่อน ร้านยาในโครงการนี้ทำหน้าที่เสมือนห้องยาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนบทบาทของ สปสช.ต่อนโยบายนี้จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการและสนับสนุนเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระบบเพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังออกระเบียบรองรับในการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับโรงพยาบาลและร้านยาในการดำเนินการ

โครงการฯ นี้ ในปีงบประมาณ 2563 ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการ 50 โรงพยาบาล และ 500 ร้านยา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครและลงทะเบียน โดยผู้ป่วยที่สนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่ห้องยาของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้  ตรวจสอบรายชื้อโรงพยาบาลและร้านยาแผนปัจจุบันที่ทยอยเข้าร่วมโครงการต่อนึ่อง ผ่านทางเว็บไซด์ สปสช.https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA==