ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์จุฬาฯ เผยพาราควอตซึมผ่านผิวหนังได้ หนำซ้ำยังเกาะตัวในดินนาน 20 ปี เป็นตะกอนในน้ำ พบได้ในแหล่งน้ำร่วมน้ำดื่ม พร้อมเปิดผลศึกษาสัตว์ทดลองสัมผัสพาราควอต ทำให้ลูกในครรภ์โตออกมามีปัญหาในสมองส่วนกลางและกระทบกับการควบคุมและขยับเขยื้อนร่างกาย

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เกี่ยวกับอันตรายจากสารพาราควอตที่มีผลต่อเด็ก ว่า

สารพาราควอตในเด็กไทย ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงแรกเกิด ในประเทศไทยนั้นมีการรายงานของคณะผู้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับผู้วิจัยสหรัฐที่รายงานในปี 2018 พบค่าเฉลี่ยพาราควอต (Geometric mean) ในปัสสาวะของผู้หญิงท้อง ที่ 28 อาทิตย์ ช่วงคลอดและที่สองเดือนหลังคลอด (ซึ่งไม่ได้ออกไปทำเกษตรกรรม) อยู่ในระดับ 2.18 2.10 และ 2.16 ng/mL ที่สำคัญ คือ ระดับของสารเคมีในปัสสาวะ ระหว่างผู้ที่ทำงานเป็นเกษตรกรและไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีระดับไม่แตกต่างกัน

การที่เกษตรกรมีพาราควอตในร่างกายนั้นไม่น่าแปลกใจนัก เพราะมันสามารถซึมผ่านร่างกายได้ผ่านทางผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมผัสเรื้อรังจะทำให้ผิวหนังเสียหายและซึมเข้าไปได้มากขึ้น โดยมีการรายงานถึงการเสียชีวิตจากการซึมผ่านทางผิวหนัง อีกด้วย แต่ในผู้ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร สันนิษฐานว่าพาราควอตสามารถเกาะตัวอยู่ในดินได้นานถึง 20 ปี หรือเกาะไปในตะกอนในน้ำเป็นชาติ และพบได้ในแหล่งน้ำ ร่วมถึงน้ำดื่มอีกด้วย ที่หนักกว่านั้นคือ เมื่อกินเข้าไปส่วนที่ไม่ได้ถูกซึมเข้าร่างกายก็จะถูกปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาเจือปนกับสิ่งแวดล้อมต่อไปอีกทอดหนึ่งได้ จึงวนเวียนไปอยู่อย่างนั้น

สิ่งที่เรากังวลกัน คือ ลูกในครรภ์แม่เองนั้นจะกินอะไรจะทำอะไรต้องระวังเป็นพิเศษ หมอจะจ่ายยาอะไรยิ่งต้องระวังเข้าไปอีกว่าจะมีตัวยาซึมผ่านรกเข้าไปถึงลูกได้หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบการเจริญเติบโต พาราควอตเป็นสารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กและสามารถผ่าน รกไปถึงลูกได้ โดยมีการศึกษาในแม่ที่ฆ่าตัวตายโดยการดื่มพาราควอต พบว่ามีพาราควอตในเลือดลูกสูงกว่าแม่อย่างน้อย 4 เท่า และทำให้ลูกในครรภ์เสียชีวิตได้
 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการสัมผัสพาราควอตเรื้อรังจะทำให้ลูกในครรภ์โตออกมามีปัญหาในสมองส่วนกลางและกระทบกับการควบคุมและขยับเขยื้อนร่างกาย นักวิจัยกลุ่มเดิมศึกษาดูระดับการสัมผัสพาราควอตของเด็กในครรภ์ โดยวัดสารพาราควอตจากขี้เทา เพราะขี้เทาจะเริ่มก่อขึ้นมาในลำไส้ตั้งแต่อาทิตย์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ และพบว่าขี้เทาในเด็กที่คลอดใหม่ใหม่พบว่ามีระดับสูงถึง 36.48 ng/g

ปัจจัยที่เกี่ยวพันกับการที่พบสารเคมีในผู้หญิงท้อง และเด็กรวมถึงการที่ทำงานนอกบ้าน มีที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก หรือ แม้แต่มีคนในครอบครัวที่ทำงานเป็นเกษตรกรก็สามารถติดไปกับผิวหนังเสื้อผ้าได้ และที่กล่าวไปก่อนหน้านี้เรื่องการที่ดื่มน้ำในเขตเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีพาราควอต