ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฟังทั่วโลกคุยเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หลายประเทศเห็นตรงกัน ต้องลงทุน “สุขภาพปฐมภูมิ” ด้านองค์การอนามัยโลกแนะทุกประเทศเจียดเงินเพิ่มอีก 1% ของ GDP

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของการประชุมบนเวทีการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage)เมื่อวันที่ 23 ก.ย.62 ที่ผ่านมา ก็คือการอัพเดทเทรนด์ด้าน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”ทั่วโลก ที่ตัวแทนทุกประเทศ ต่างก็โชว์ความพร้อมของตัวเอง เล่าเรื่องพัฒนาการของแต่ละประเทศ และเสนอแนะต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่า จะไปต่ออย่างไร

อเล็กซานเดอร์ เดอครู รมว.พาณิชย์และการพัฒนาของเบลเยียม ระบุว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็น “เสาหลัก” การพัฒนาของเบลเยียม พร้อมกับยืนยันว่า สิทธิการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของประชาชนทุกคน คือ “สิทธิมนุษยชน” ขั้นพื้นฐาน ที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ

เดอครู บอกอีกว่า แม้เบลเยียม จะเป็นประเทศรายได้สูง แต่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มีความสำคัญ เพราะถือเป็นหลักประกันให้กับคนชาติ ว่ามี “ความมั่นคง” ทางสุขภาพ เพื่อที่เวลาเจ็บป่วยหนัก เจ็บป่วยเรื้อรัง จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อรักษาตัว

ขณะเดียวกัน เบลเยียมยังได้เรียนรู้อีกว่า เรื่องหลักประกันสุขภาพ ยังถือเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งหากรัฐบาล เลือกจะเมินเฉย หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาต่อ รัฐบาลนั้นๆ ก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือจากชุมชน ไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน และหากจะขับเคลื่อนนโยบายอื่น ก็จะลำบากมากขึ้น

“ไม่มีประเทศไหนที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ หากประชาชนไม่มีความมั่นคงด้านสุขภาพ” เดอครูกล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากเบลเยียม ยืนยันว่า ไม่มีระบบสุขภาพในอุดมคติอันไหน ที่จะสามารถ “เหมาะสม” กับประเทศใดประเทศหนึ่งได้พอดี เพราะทุกประเทศล้วนมีปัญหาของตัวเอง และมีวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง สิ่งสำคัญก็คือรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการระบบได้อย่างไร ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และเกิดความเชื่อใจ ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมว่า หลักประกันสุขภาพ ควรเริ่มต้นจาก “ข้อมูล” “ปัญหา” และการ “ประเมินผล” วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างละเอียด

ด้าน มาริส เพย์น รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า การมีระบบสุขภาพที่ดี ถือเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าประเทศนั้นๆ มีความมั่นคงทางสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขนาดไหน สำหรับออสเตรเลีย ถือเป็นประเทศผู้นำด้านระบบหลักประกันสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมานาน โดยบทเรียนที่เห็นได้ชัดที่ผ่านมาก็คือ “ข้อมูล” เป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี ซึ่ง “ข้อมูล” ทั้งเรื่องโรค เรื่องเงิน จะทำให้รัฐบาล สามารถจัดสรรทรัพยากรสำหรับการป้องกัน –รักษาโรค ได้ถูกที่ถูกทางมากขึ้น

เพย์น บอกอีกว่า บทเรียนสำคัญอีกอย่างของออสเตรเลีย ก็คือการจัดการ “แนวหน้า” หรือ Frontlinenถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบ “สุขภาพปฐมภูมิ” การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ไปจนถึงการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรม ขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นปัญหาใหม่ก็คือ เรื่องสุขภาพจิต ที่ออสเตรเลีย กำลังปรับระบบสาธารณสุขว่าจะทำอย่างไร ให้ระบบสุขภาพ สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาจิตเวชใหม่ๆ ได้เท่าทัน

รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย ระบุอีกว่า ที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ถือเป็นผู้นำด้านการตรวจคัดกรองมะเร็ง และการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ โดยยินดีที่จะถ่ายทอดความสำเร็จ ไปให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วโลกได้เรียนรู้เช่นกัน ทั้งนี้ ความท้าทายใหม่ก็คือ การทำให้ระบบที่มีอยู่แข็งแกร่งมากขึ้น ขยายการครอบคลุมไปยังกลุ่มอะบอริจิน (ชนพื้นเมือง) และผู้อพยพมากขึ้น

ออสเตรเลีย ยังได้เสนอแนะให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนความเท่าเทียมในการปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น ทั้งในเรื่องเพศสภาพ เรื่องการดูแลผู้ป่วยทุกคนโดยไม่แบ่งแยก และเรียกร้องให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ ในประเทศที่ยังสร้างระบบไม่สำเร็จ โดยออสเตรเลีย ยินดีให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน

อเล็กซ์ อาซาร์ รมว.สาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐฯ มีเป้าหมายร่วมกับทุกประเทศ ในการบรรลุวัตถุประสงค์เรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”ภายในปี 2573 (UHC 2030) โดยภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนการดูแลผู้ป่วย ในฐานะ “มนุษย์” แทนการดูแลผู้ป่วยในฐานะเป็น “ตัวเลข” ตัวเลขหนึ่ง ขณะเดียวกัน ยังได้พัฒนาระบบการเงินการคลัง ที่มีคนไข้ เป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้วางขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะลดราคายาและเวชภัณฑ์ลง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ นโยบายดังกล่าวจะเห็นผล และทำให้อเมริกา เข้าใกล้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น

อาซาร์ บอกอีกด้วยว่า ระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี ไม่สามารถอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งได้อย่างเดียว แต่ต้องทำไปพร้อมๆ กันหลายชาติ ซึ่งหากทุกประเทศ มีระบบสุขภาพที่ดี จะช่วยป้องกันการติดต่อของโรคระบาดข้ามชาติ อย่าง อีโบล่า ในแอฟริกา หรือ โรคเมอร์ส ที่ระบาดในตะวันออกกลางเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้

ส่วนเวโรนิกา สควอตโซวา รมว.สาธารณสุขรัสเซีย บอกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศ สามารถย้อนกลับไปได้ถึง 90 ปีที่แล้ว และแถลงการณ์ร่วมเรื่องการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้ปฏิญญาอัลมา อตา ก็ไม่ได้เกิดที่ไหน หากแต่เกิดขึ้นที่สหภาพโซเวียต เมื่อปี 2521 โดยมีโซเวียตเป็นผู้ผลักดันหลัก เพราะฉะนั้น รัสเซียจึงสนับสนุนปฏิญญาทางการเมืองของสหประชาชาติ ในการสร้างระบบสาธารณสุขที่ทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพ อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัสเซียในปัจจุบัน ได้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 95% บริการทางการแพทย์ มากกว่า 1 หมื่นประเภท ขณะเดียวกัน การให้บริการด้านสาธารณสุข ก็ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจคัดกรองโรค ไปจนถึงการรักษาด้วยเครื่องมือไฮเทค โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อายุขัยเฉลี่ยของรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันอยู่ที่ 77 ปี และสามารถลดอัตราการตายของทารก ได้มากถึง 4.6 เท่า

รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก ยังระบุอีกด้วยว่าอายุขัยเฉลี่ยของชาวรัสเซียที่เพิ่มขึ้น มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงมากกว่า 43% ในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา

ด้านทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก สนับสนุนงบประมาณเพิ่มอีกอย่างน้อย 1% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ในการลงทุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลังความคืบหน้าล่าสุด พบว่าหากค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข รวมถึงตัวเลขผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ยังสูงอยู่ในระดับนี้ ในปี 2573 ตามแผนพัฒนาของสหประชาชาติ จะมีประชากรทั่วโลกมากกว่า 5,000 ล้านคน ที่เข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข เพราะฉะนั้น องค์การอนามัยโลก จึงได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมลงนามในปฏิญญาทางการเมืองร่วมกัน เป็นการกระตุ้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในอีก 11 ปีข้างหน้าต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภูฏานประกาศกลาง UN พร้อมเป็นประเทศยากจน ที่มี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ครอบคลุม