ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาการพยาบาลจับมือ สปสช. นำร่องให้คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ใน กทม.เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในเครือข่ายช่วยดูแลการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง หวังช่วยขยายการดูแลให้ทั่วถึงมากขึ้น

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสภาการพยาบาลได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำร่องการขยายบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในเครือข่ายของ สปสช. รับผิดชอบเรื่องการป้องกันโรค การให้คำแนะนำด้านสุขภาพต่างๆ ตลอดจนการเยี่ยมบ้าน โดยเบื้องต้นมีคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์เข้าร่วมโครงการนำร่อง 9-10 แห่ง โดยจะประเมินการทำงานไปเรื่อยๆเพื่อปรับปรุงรูปแบบการให้บริการให้เข้าที่เข้าทางและสุดท้ายจะประเมินผลว่าโครงการลักษณะนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึงเพียงใด หากได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็จะขยายขอบเขตการดำเนินงานให้มากขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า เป้าหมายของ สปสช.คือทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีมาตรฐาน ยิ่งในปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ให้นอนโรงพยาบาลตลอดไปก็ไม่ได้ ผู้สูงอายุหลายคนมีโรคเรื้อรัง ติดบ้านติดเตียงและจำเป็นต้องได้รับการดูแล ดังนั้นต้องขยายการดูแลดีและทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้ก็มีลักษณะเหมือนกับการรับยาที่ร้านขายยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายกับ สปสช.และมีเภสัชกรประจำเพื่อลดความแออัดและลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาล ส่วนคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์สามารถช่วยในเรื่องการเยี่ยมบ้าน การให้คำปรึกษา ฯลฯ เป็นการขยายการบริการออกไปเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดีขึ้นทั่วถึงมากขึ้น

"แนวคิดนี้ก็จะเข้าไปเป็นหน่วยบริการร่วมให้กับ สปสช.โดยต้องเป็นคลินิคที่มีมาตรฐานตามที่สภาวิชาชีพกำหนด สภาการพยาบาลก็ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน ตอนนี้นำร่องแล้วใน กทม. จำนวนอาจมีไม่มากเพราะแม้ใน กทม.จะมีคลินิคการพยาบาลและการผดุงครรภ์จำนวนหนึ่ง แต่ประการแรกเขาต้องสมัครใจก่อนซึ่งบางคนก็ยังไม่พร้อม ยังจัดเวลาไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มีประมาณ 9-10 แห่งที่นำร่อง เรามองว่าไม่เป็นไร ถ้าเขาทำได้ดีมันก็ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐเพราะถึงอย่างไรโรงพยาบาลก็มีไม่พอ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง คลินิคเหล่านี้จะมาเสริมให้ประชาชนถึงจะได้รับการดูแลที่ทั่วถึงมากขึ้น"รศ.ดร.ทัศนา กล่าว

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวอีกว่า ในส่วนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ บางส่วนก็มีอยู่แล้ว เช่น การเยี่ยมบ้านให้รายละ 200 บาท แต่บางเรื่องก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

"มันเพิ่งเริ่มเพราะฉะนั้นอะไรๆก็ยังต้องทำให้เข้าที่เข้าทาง เราจะประเมินไปเรื่อยๆเพื่อปรับให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เมื่อประเมินเสร็จก็จะเอาผลมาดู ถ้ามันช่วยให้คนได้รับการดูแลที่ทั่วถึงมากขึ้น เราค่อยขยายต่อไปในพื้นที่ที่มีความพร้อม" รศ.ดร.ทัศนา กล่าว

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ยินดีสนับสนุนทุกวิชาชีพเข้าเป็นหน่วยร่วมให้บริการ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลซึ่งเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วย และเป็นวิชาชีพที่เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทย