ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ-รมว.สธ. ฉุนกลุ่มข่มขู่นักวิชาการหลังแบนไม่เอาสารเคมี ด้านนักวิชาการจุฬาฯ เผยกระบวนการข่มขู่มีต่อเนื่องลดหลั่นตามระดับ ข่าวดี! สธ. ขับเคลื่อนแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ตัว “พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส” เลิกการนำเข้า เลิกจำหน่าย เลิกครอบครอง เลิกใช้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ด้านไบโอไทยล่ารายชื่อแบนสารเคมี 

ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการข่มขู่นักวิชาการที่ออกมาต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่า ตนไม่รู้ว่าใครออกมาขู่ เพราะไม่ได้มาขู่ตน แต่ถ้ามาจะตบให้ และคนที่ไปขู่นักวิชาการ นี่ถือว่ากระจอก แน่จริงมาคุยกัน เปิดเผย อย่าหลบ ไม่ขู่นักวิชาการไม่ได้อะไร และขอย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่เอาสารเคมีพวกนี้ ต้องหยุดใช้อย่างเดียว ทั้งนี้ นักวิชาการที่ถูกข่มขู่มี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.พวงรัตน ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการที่ออกมาต่อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า จริงๆการถูกข่มขู่ไม่ใช่แค่ 2 คน แต่ทุกคนที่ทำเกี่ยวกับอันตรายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน แม้แต่การเข้าชื่อก็จะถูกข่มขู่หมดในระดับลดหลั่นกันไป ก็เหมือนกับกระทรวงสาธารณสุข ในกรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ฯลฯ โดยเคยถูกขอข้อมูลจากพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ว่า สารเคมีเหล่านี้ทำคนเจ็บ คนเสียชีวิตจริงหรือไม่ มีหลักฐานพิสูจน์หรือไม่ ซึ่งนักวิชาการก็เคยเจอ แม้แต่หนังสือมาถึงผู้บริหารระดับสูงก็ยังมี

ผู้สื่อข่าวถามว่าท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สธ. ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ว่าจะเดินหน้าไม่เอาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และท้าให้พวกที่ขู่นักวิชาการมาขู่ตนแทน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ท่านอนุทิน ได้ให้ขวัญกำลังใจว่า หากเราทำปกป้องประชาชนคนไทย ไม่ต้องกลัวอะไร และตอนนี้ทาง สธ.ก็มีมาตรการในการตอบโต้ โดยกระทรวงฯ ได้ทำงานเป็นวอร์รูม ประกอบด้วยกรมทุกกรมที่เกี่ยวข้อง ทำงานทุกวัน เพื่อนำไปสู่เลิกการนำเข้า เลิกจำหน่าย เลิกครอบครอง เลิกใช้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ตามที่ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้วางไว้ และเนื่องจากกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติภายในกลางเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งจะต้องพยายามทุกวิธีทางไม่ให้มีการต่ออายุการใช้สารเคมีเหล่านี้อีก

แต่ปัญหาคือ มีสัญญาณอันตราย คือ ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการเกษตรฯบอกว่าจะทำตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่า จะทำอย่างไรให้มติเป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข การพูดแบบนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จะมีการขับเคลื่อนให้กรรมการวัตถุอันตรายให้แบนสารเคมีอย่างสิ้นเชิง และตัวกรรมการจะมีการเปลี่ยนตัว แต่องค์ประกอบก็ยังคงเหมือนเดิม โดยเสียงข้างน้อยประมาณ 4-5 คนจากทั้งหมด 29 คน ยังคงเป็นตัวแทนจากฝั่งสุขภาพ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการ แบบนี้ก็แพ้ตลอด ทั้งนี้ เราก็เหลือเวลาอีกเดือนครึ่งเท่านั้น 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มติคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาก็สรุปชัดเจนว่า กรณีถ้ามีการแบนสารเคมี มีมาตรการทดแทนอยู่แล้ว และกระทรวงเกษตรฯต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีสารชีวพันธุ์ และหากต้องใช้สารเคมีทดแทนก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และมีความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

วันเดียวกัน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย กล่าวถึงกรณีที่ไบโอไทยมีการเปิดให้คนไทยร่วมลงชื่อแบนสารเคมีอันตรายตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2562ที่ผ่านมา (ลงชื่อแบนสารเคมีอันตราย)  ว่า ขณะนี้มีผู้ร่วมลงรายชื่อแล้วประมาณ 52,000 ราย แต่ก็ยังไม่ได้รณรงค์อย่างเต็มที่ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม เป็นต้นไป เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 686 องค์กร โดยจะเริ่มรณรงค์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังจะเริ่มไปเข้าพบกับพรรคการเมืองต่างๆซึ่งได้นัดหมายไว้แล้ว โดยในวันที่ 8 ตุลาคมจะเข้าพบพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และวันที่ 9 ตุลาคมเข้าพบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จากนั้นก็จะมีการร่วมกันเคลื่อนไหวกดดันกรรมการวัตถุอันตราย ในการลงมติแบนสารเคมีอันตรายให้เป็นไปอย่างเปิดเผยไม่เป็นมติลับเหมือนอย่างที่ผ่านมา อีกทั้ง จะไปขอเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย คู่ขนานกับในประชาชนร่วมลงชื่อ ซึ่งทุกครั้งที่เข้าพบรัฐมนตรีหรือพรรคการเมืองต่างๆทางเครือข่ายฯก็จะนำรายชื่อที่ได้ไปร่วมมอบด้วย

เมื่อถามว่าที่ผ่านมารัฐมนตรี 3 กระทรวง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ต่างก็มีความชัดเจนว่าไม่เอาสารเคมีอันตรายแล้วกระบวนการขณะนี้ติดอยู่ตรงจุดไหนถึงยังไม่สามารถแบนสารเคมีได้ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ในอดีตตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขประกาศชัดเจนว่าไม่เอา แต่ติดที่กระทรวงเกษตรฯ แต่ครั้งนี้กระทรวงเกษตรฯมีบางส่วนที่ชัดเจนแล้วว่าไม่เอาแต่ก็ยังมีบางส่วนที่ลังเล ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจึงเป็นเหตุผลให้เครือข่ายฯเดินหน้าเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ ทั้งที่มาจากพรรคปชป.และ พรรคชทพ. ที่กำกับดูแล 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าอาหารและเกษตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะหากการแบนสารเคมีเป็นมติของทั้ง 5หน่วยงาน การแบนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงเกษตรมักเป็นคนขวางเรื่องการแบนสารเคมีอันตราย