ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปัญหาของเด็กและเยาวชนไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ที่จริงแล้วมันมีอยู่หลายๆเรื่อง เราต้องแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆกัน อย่างเรื่องของเด็กแว้น จากการพูดคุยกับกลุ่มเด็กแว้น พบว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นเด็กแว้น แค่พวกเขาต้องการพื้นที่ในการแสดงออกถึงพลังที่เขามีเท่านั้น”

คำบอกเล่าของ นายกันตณัช รัตนวิก แกนนำกลุ่มเยาวชนทุ่งใสหัวใจยิ้ม จังหวัดนครศรีธรรมราช สมาคมเพื่อนเยาวชนและการพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน ได้พูดถึงปัญหาของกลุ่มเด็กแว้น ที่ผ่านมากัณตณัชได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มเด็กแว้น กลุ่มเยาวชนที่เดิมเป็นตัวสร้างปัญหา สร้างความรำคาญให้กับคนในชุมชน แต่ในวันนี้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนตัวเองจากเป็นตัวเจ้าปัญหาของชุมชน กลายมาเป็นจิตอาสาทำสิ่งดีๆให้กับชุมชนแทน

กว่า 10 ปีมาแล้ว ที่กัณตณัช มองเห็นปัญหาของเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีมากมาย การแก้ปัญหาไม่ใช่แก้เพียงเรื่องเดียว แต่จะต้องแก้ไปหลายๆเรื่องพร้อมๆกัน นั่นคือสิ่งที่กันตณัชมองเห็นแนวทางการปัญหาของเยาวชนในพื้นที่

กัณตณัช เล่าว่า กลุ่มเด็กแว้นในตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีประมาณ 20-30 คน แต่ถ้ารวมทั้งอำเภอสิชลจะมีมากถึง 200-300 คน ในการทำงานของกลุ่ม “เยาวชนทุ่งใสหัวใจยิ้ม” พบว่า ปัญหาเด็กแว้นในพื้นที่ตำบลมุ่งใส จะแตกต่างกับเด็กแว้นใน กทม. เพราะที่ทุ่งใส เด็กแว้นเขาจะเริ่มปฏิบัติการรวมกลุ่มกันหลังเลิกเรียน เนื่องจากสภาพถนนในพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยให้ออกมาแว้นกันตอนกลางคืนเหมือนใน กทม. เพราะถนนบางเส้นจะไม่มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง ซึ่งจะไม่อำนวยความสะดวกให้เด็กออกมาแว้นตอนกลางคืนเหมือน กทม. ที่นี่จะแว้นถึงประมาณสองทุ่มเท่านั้น

“ค่านิยมเด็กแว้นที่นี่มักจะถอดอุปกรณ์ควบรถออกมา เพื่อให้ตัวรถเบาที่สุด ซึ่งจะทำความเร็วได้มากที่สุดเช่น และยิ่งจะเจ๋งในสายตาเพื่อนๆแล้ว จะต้องไม่มีทั้งไฟหน้า-ท้าย เบรกหลังต้องไม่มี ไม่ต้องใส่หมวกกันน็อก จะยิ่งดูเท่ห์มากๆในสายตาของพวกเขา”

สิ่งแรกที่กัณตณัชเลือกใช้ในการแก้ปัญหาเด็กแว้น คือเมื่อเราสามารถเขาไปพูดคุยกับเยาวนกลุ่มนี้แล้ว เราจะเปิดโอกาสให้เขาได้คิดว่าเขาอยากจะทำอะไรให้กับชุมชนเขาบ้าง สิ่งที่ทางกลุ่มทุ่งใสหัวใจยิ้มพบว่า จริงๆแล้วเยาวชนเหล่านี้เขาไม่ต้องการที่จะออกมาแว้นข้างถนน แต่พวกเขาต้องการพื้นที่ในการแสดงออก เมื่อสามารถหาพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมแล้วจะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถเปลี่ยนจากเสียงก่นด่าของชาวบ้านในเวลาที่เขาออกไปแว้น กลายมาเป็นเสียงชื่นชมในเวลาที่กุล่มเยาชนเหล่านี้ออกมาทำความดี

“ยกตัวอย่างกลุ่มเด็กแว้นที่เราให้เขาคิดว่าอยากจะทำอะไรให้กับชุมชน หรือสิ่งที่ใกล้ตัว พวกเขาอยากทาสีโรงเรียน เราก็จัดกิจกรรมให้พวกเขาทำ จากนั้นเราจะมีกิจกรรมที่พวกเขาอยากทำอย่างต่อเนื่อง โดยเวลาที่ไปทำกิจกรรมเราจะให้เขาขี่มอเตอร์ ใส่หมวกกันน็อก จำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร ไปกันเป็นกลุ่มทำกิจกรรมจิตอาสา เช่น ทาสีโรงเรียน เปลี่ยนไฟท้ายไฟห้นาให้กับชาวบ้านโดยไม่เสียค่าใช้ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหลายเราได้พันธมิตรมาสนับสนุนค่าอุปกรณ์ให้ ”

จากเสียงด่าทอในอดีตกลายมาเป็นเสียงชื่นชม ทำให้เยาวชนกลุ่มนี้มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงพลัง และเขาจะไปชักชวนเพื่อนๆมาเอง ซึ่งกันตณัช บอกว่า สิ่งที่ทำในวันนี้จะกลายเป็นเครือข่ายในการทำงานให้กับกลุ่มเยาวชน... หัวใจที่สำคัญของการทำงานกับเยาวชนที่จะประสบความสำเร็จได้ เราจะต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร แล้วเราผู้ที่เป็นผู้ใหญ่มีหน้าที่สนบัสนุนความคิดเขา หาพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก

“อยากจะฝากบอกกับผู้ใหญ่ให้เชื่อว่า เด็กทุกคนมีพลัง ถ้าเขาได้รับโอกาสจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยที่จะต้องมีกลุ่มต่างๆที่คอยเชื่อม และต้องได้รับการสนับสนุนจากพื้นที่ ประชาชนและภาครัฐ โดยที่องค์กร์ท้องถิ่นจะเป็นผู้ออกนโยบายหรือแนวทางในการแก้ปัญหา และต้องมีการศึกษาปัญหาต่างๆอย่างจริงจัง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ใช้ความรุนแรงจะทำให้เยาวชนหนีไปทำอย่างอื่นแทน การแก้ปัญหาก็จะไม่จบ แต่ถ้าเราเข้าใจดังที่ตนกล่าวมาแล้ว เราจะได้แก้ปัญหาได้ถูก” กันตณัช กล่าวสรุป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง