ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์เภสัชฯ จุฬาฯ จี้บริษัทยาข้ามชาติให้ความชัดเจนผลการตรวจสอบยา "TAZOCIN" ปนเปื้อน ระบุ ต้องขยายผลตรวจสอบยาล็อตอื่นด้วย เชื่อปัญหาเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลหลายแห่ง

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการพบการปนเปื้อนในยา "TAZOCIN" ของบริษัทยาข้ามชาติตอนหนึ่งว่า โดยทั่วไปแม้การพบเจอสิ่งแปลกปลอมในยาจะเป็นเรื่องแย่ แต่ที่ผ่านมาก็มีการพบเจอได้บ้าง และไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ซึ่งปัญหา particulate matter หรืออนุภาคเล็กๆ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการผลิตที่อาจมีความผิดปกติ เพียงแต่เมื่อเจอแล้ว บริษัทยาจะต้องมีการบริหารจัดการที่ถูกต้องและรวดเร็ว โดยจะต้องมีกระบวนการเรียกคืนยา พร้อมทั้งทำการตรวจสอบกระบวนการผลิตทั้งหมด

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ กล่าวต่อไปว่า ยา "TAZOCIN” ที่พบการปนเปื้อนเป็นแบบฉีด ซึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกของยาประเภทฉีดเข้าเส้นเลือดคือความใส กล่าวคือคือตัวยานั้นจะต้องไม่มีอนุภาคหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่เลย เพราะหากมีสิ่งแปลกปลอมเล็กๆ เหล่านี้เข้าไปอุดในเส้นเลือดของอวัยวะใด จะเกิดอันตรายต่ออวัยวะและผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นของยา "TAZOCIN" เชื่อว่าสิ่งแปลกปลอมที่พบนั้นคล้ายกับเป็นตะกอน หรือน่าจะเป็นของแข็ง ซึ่งตั้งสมมติฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดในเชิงระบบ ที่จะต้องมีที่มาที่ไป เพราะปัญหาไม่ได้พบเพียง 1-2 ขวด แต่พบเป็นล็อตการผลิต และเจอหลายล็อต

"ไม่ว่าบริษัทยาใดก็ตามเมื่อเกิดปัญหา นอกจากจะเรียกคืนยาแล้ว ยังต้องขยายการตรวจสอบถึงยาล็อตอื่นๆ ด้วย ว่ายาล็อตไหนบ้างที่อาจมีความเสี่ยง คือคงไม่เรียกคืนเฉพาะล็อตที่โรงพยาบาลรายงานปัญหา แต่ต้องกลับไปดูทั้งหมด และหาที่มาที่ไป หาระบบการแก้ไข ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติอยู่แล้วของอุตสาหกรรมยา" ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งของบุคลากรทางการแพทย์เองในขณะนี้ ควรจะต้องตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบยาตัวเดียวกันนี้ด้วย เพราะส่วนตัวเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะพบปัญหานี้เฉพาะใน 2 โรงพยาบาล คือ รพ.รามาธิบดี และ รพ.กรุงเทพ ที่มีการรายงานออกมาเท่านั้น แต่คาดว่าหากตรวจสอบในโรงพยาบาลอื่นๆ ก็อาจจะพบด้วยเช่นเดียวกัน

"ผมเชื่อว่าถ้าไปดูยานี้ในโรงพยาบาลอื่นๆ น่าจะเจอ เพราะเป็นล็อตเดียวกันทำไมโรงพยาบาลอื่นไม่เจอ แต่คำถามคือคนที่ผสมยาจะตรวจพบสิ่งนั้นหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่มีการผสมยาฉีดเข้าเส้นผู้ป่วย สิ่งหนึ่งที่ต้องตรวจสอบคือความสารละลายใส หรือความเคลียร์ไม่ให้มีอนุภาคใดอยู่เลย ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ทักษะพิเศษในระดับหนึ่ง" ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ กล่าว

ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงมองว่าในส่วนของมาตรฐานการผสมยา ยังเป็นอีกส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในเชิงระบบด้วยเช่นเดียวกัน เพราะความจริงแล้วผู้ที่ถูกฝึกมาให้ทำด้านนี้คือเภสัชกร แต่บางโรงพยาบาลอาจไม่ได้มีฝ่ายเภสัชกรรม แยกออกมาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ 

"ส่วนตัวชมเชยทั้ง 2 โรงพยาบาลที่เจอปัญหาและทำการรายงานออกมา ซึ่งเชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่แบบนี้ควรจะต้องเร่งดำเนินการอย่างที่บอก แต่ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าทางผู้ผลิตเองได้ทำติดตามตรวจสอบไปเพียงใด และมีการเรียกคืนยานอกเหนือจากที่โรงพยาบาลแจ้งหรือไม่ แต่ถ้าจะบอกว่าเรียกคืนเฉพาะล็อตที่โรงพยาบาลแจ้งคงไม่ได้ ต้องดูด้วยว่ามีความเสี่ยงที่ล็อตไหนอีกบ้าง" ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรียกคืนอีก! ยาฆ่าเชื้อชนิดฉีด ‘TAZOCIN’ พบปนเปื้อนขวดบรรจุยา

พบอีก ยาฆ่าเชื้อ ‘TAZOCIN’ ปนเปื้อนขวดบรรจุยาแทบทุกล๊อต อย.เตือนภัยเร่งด่วน-เรียกคืน

เภสัชกรหวั่นการปนเปื้อนยา ‘TAZOCIN’ กระทบหลายประเทศ เหตุเป็นยานำเข้า