ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภาคีลูกจ้างชั่วคราวฯยื่นคำขาดถก 'หมอประดิษฐ' แก้ระเบียบเงินบำรุงข้อ 9 (4) เพิ่ม'ค่าเวร เบี้ยเสี่ยงภัย' ขู่เจรจาไม่ได้ผล ระดมสมาชิกนัดหยุดงาน 1-3 มกราฯนี้แน่นอน

ตามที่ภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อาทิ พนักงานทำความสะอาด พนักงาน เข็นเปล คนสวน ฯลฯ กว่า 1 แสนคนยืนยันนัดหยุดงานวันที่ 1-3 มกราคม 2556 ประท้วงหากผู้บริหาร สธ.ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการ โดยเฉพาะค่าตอบแทน ที่สูงขึ้นเหมือนลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพนั้น

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า การที่ภาคีลูกจ้างชั่วคราวฯเรียกร้องเนื่องจากต้องการสิทธิสวัสดิการเพิ่มนั้น ชัดเจนว่า สธ.ได้มีแนวทางรองรับด้วยการร่างระเบียบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน มีทั้งส่วนพนักงาน ก.สธ.ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ 21 สายงาน จำนวน 30,000 คน และส่วนที่เป็นสายสนับสนุนหรือสายทั่วไปอีก 100,000 คน ซึ่งในส่วนของสายวิชาชีพจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการโดยคำนึงถึงความอาวุโสในการทำงาน 22,641 คน เฉลี่ยปีละ 7,547 คน จนครบ 3 ปี นอกนั้นจะถูกยกสถานะเป็นพนักงาน ก.สธ.มีสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่กลุ่มลูกจ้างสายสนับสนุนจะต้องหยุดงานเพื่อชุมนุมเรียกร้อง อีก เพราะเป็นสิ่งที่ สธ.กำลังดำเนินการ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวสายสนับ สนุนได้มอบหมายให้ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ และสมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราวชี้แจงกับลูกจ้างกลุ่มนี้แล้ว เชื่อว่าจะเข้าใจ เพราะข้อเท็จจริง สธ.ไม่ได้ ร่างระเบียบพนักงาน ก.สธ. หรือเพิ่มสิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ เพียงลำพัง แต่ได้เชิญ ผู้แทนทั้งจากสหวิชาชีพ สมาพันธ์และสมาคมลูกจ้างชั่วคราว เข้าร่วมทำงานตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นการระดมความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างประสานงานกับหน้าห้องรัฐมนตรี สธ. เพื่อขอเข้าพบ คาดว่าจะ เป็นสัปดาห์หน้า

"โดยจะขอให้แก้ข้อ 9 (4) ของระเบียบเงินบำรุงว่าด้วยการจ่ายเงินของลูกจ้าง ชั่วคราวสายสนับสนุน ที่กำหนดจ่ายได้เฉพาะค่าแรง นอกนั้นไม่มีสิทธิจ่าย ไม่ว่าจะเป็น ค่าเวรใดๆ ก็ตาม ระเบียบข้อนี้ควรแก้ไขเนื่องจากใช้มาตั้งแต่ปี 2526 และขอให้มีการ จ่ายค่าเสี่ยงภัยคนละ 2,500 บาท เพราะขณะนี้ลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุนที่ทำงาน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับเงินดังกล่าวตั้งแต่ปี 2547 ทั้งนี้ หากไม่ได้ตาม ข้อเรียกร้อง ภาคียืนยันจะหยุดงานประท้วงแน่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขสมาชิกที่ตั้งใจหยุดงาน คาดว่าจะทราบตัวเลขภายในวันที่ 13 ธันวาคมนี้" นางกนกพรกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 13 ธ.ค. 2555