ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ในแต่ละปีมีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งที่เดินทางเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ ติดต่อธุรกิจ ท่องเที่ยว ศึกษาต่อ และรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลด่านตรวจคนเข้าเมืองปี 2555 มีคนต่างด้าวที่เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นการชั่วคราวประมาณ 23 ล้านคน ไม่นับรวมกลุ่มคนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาในประเทศไทยและไม่ได้ขึ้นทะเบียนขึ้นทะเบียนแรงงานตามกฎหมาย โดยคาดว่ามีจำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีรายงานหรืองานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพของคนต่างด้าว แต่จากหลักฐานเชิงประจักษพบว่า มีคนต่างด้าวจำนวนมากที่ไม่มีประกันภัยสุขภาพคุ้มครอง ทำให้เกิดปัญหาเพราะเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาภาระค่าใช้จ่าย ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่ต้องเป็นผู้แบกรับแทน ส่งผลต่อระบบหลักประกันรสุขภาพของประชาชนในประเทศ รวมถึงความมั่นคงด้านการเงินการคลัง ไม่นับรวมปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ในการควบคุมโรค

จากข้อมูลนำเสนอของทางกระทรวงสาธารณสุขต่อที่ประชุมปรึกษาหารือระดับนโยบาย เรื่อง นโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่า ลาว และกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทย ระบุว่า กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 5 ปี ที่ผ่านมาแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะจัดระบบหลักประกันสุขภาพในรูปแบบชั่คราว แต่ยังไม่ครอบคลุมคนกลุ่มนี้ทั้งหมด ซึ่งปี 2554 มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพ 9 แสนคน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการทำประกันสุขภาพ รวมไปถึงผู้ติดตามที่ไม่มีการทำประกันสุขภาพเช่นกัน จากสถิติการเข้ารับบริการสถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีการให้บริการคนต่างด้าว เป็นผู้ป่วยนอกประมาณ 6 แสนครั้งต่อปี ผู้ป่วยในประมาณ 1 แสนครั้งต่อปี แต่ละปีเฉลี่ยมีหนี้สูญราว 300 ล้านบาท ซึ่งมาจากคนต่างด้าวที่อยู่นอกระบบประกันสุขภาพ โดยตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากยังไม่รวมการรับบริการในโรงพยาบาลเอกชน

ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จากสถิติของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน พบว่ามีชาวต่างชาติค้างชำระค่าบริการประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมการเข้ารับบริการในคลินิกเอกชน ถ้าประมาณการขนาดของปัญหาจากรายงานศึกษาในต่างประเทศ พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศพัฒนาแล้วร้อยละ 20-70 จะเกิดปัญหาการเดินทางทั้งเล็กน้อยและรุนแรง โดยร้อยละ 1-5 ต้องได้รับการรักษา และร้อยละ 0.01-0.1 ต้องได้รับการส่งต่อ อัตราการเสียชีวิต 1 ต่อประชากรแสนราย ทั้งนี้หากใช้รายงานนี้เพื่อประมาณสถานการณ์การเจ็บป่วยของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยราว 20 ล้านคนต่อปี จะมีคนที่ต้องเข้ารับการรักษาประมาณ 26,054 ครั้ง หรือเฉลี่ย 0.05 ครั้งต่อคนต่อปี

ขณะที่กลุ่มคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเป็นปัญหา แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการนำเสนอต่อ ครม.เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามารับบริการในสถานพยาบาลพื้นที่ชายแดน แต่ยังขาดความยั่งยืนในแก้ไขปัญหาระยะยาว

ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเสนอการจัด ระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว ทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มประชากรต่างด้าวที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน และกลุ่มคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดย ครม.ได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 และมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบการรักษาคนต่างด้าวทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประเทศ โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งในด้านการคลังและสาธารณสุข

การประชุมปรึกษาหารือระดับนโยบายเรื่องนโยบายการพัฒนาระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของ 8 กระทรวง อาทิ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมการบินพลเรือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อจัดทำนโยบาย โดยมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ในฐานะผู้นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม กล่าวว่า หลักการของการจัดระบบหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว คือต้องครอบคลุมคนต่างด้าวทุกกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย และมีการควบคุมการใช้บริการอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคนในประเทศ ทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มอาศัยอยู่บริเวณชายแดน และกลุ่มที่เข้าประเทศเป็นการชั่วคราว อย่างนักท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยในกลุ่มแรงงานต่างด้าวนั้น นพ.ถาวร ระบุว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้มาคนเดียว แต่จะมาพร้อมครอบครัว ซึ่งพบว่าสถานพยาบาลในบางพื้นที่ มีอัตราการคลอดของเด็กเกิดใหม่จากคนต่างด้าวมากกว่าคนไทย แสดงให้เห็นถึงจำนวนของกลุ่มคนเหล่านี้ ดังนั้นการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพจึงไม่แต่เฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงคนในครอบครัวที่ติดตามเข้ามา ซึ่งต้องมีระบบการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่ลดภาระการคลัง แต่ยังเป็นการป้องกันการแพร่กระจายโรค โดยต้องครอบคลุมโรคที่เป็นปัญหา อาทิ โรคเอดส์ เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยต้องร่วมมือเพื่อทำให้คนเหล่านี้มีหลักประกันสุขภาพ

การดูแลผู้ป่วยเอดส์ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว แต่เดิมได้เงินช่วยเหลือดจากกองทุนโลก (Global Fund) ในการดูแล แต่ทราบว่าขณะนี้กองทุนนี้จะลดหรือยุติการช่วยเหลือภายในหนึ่งถึงสองปีนี้ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องมีการเตรียมแผนรองรับไว้ โดยต้องมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มเติมนพ.ถาวร กล่าวและว่า นอกจากนี้ต้องให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ เนื่องจากภายหลังจากที่โอนแรงงานต่างด้าวไปอยู่ในระบบประกันสังคม สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุมถึง ต่างจากสิทธิ์เดิมที่เคยใช้บัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการการดูแล และขณะนี้มีบางจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเริ่มมีปัญหาและอาจส่งผลกระทบต่อคนไทยได้หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้น

นพ.ถาวร กล่าวว่า สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่อยู่ตามแนวชายแดนมีหลายกลุ่มและเป็นภาระการคลัง โดยแนวทางแก้ไขปัญหา คือ ทำอย่างไรให้มีการจัดตั้งกองทุนระหว่างประเทศ เป็นกองทุนร่วม และมีหน่วยงานเข้าไปช่วยทำให้ประชากรในประเทศข้างเคียงมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นตัวกลางในการเจรจาระดับภูมิภาคว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ขณะที่ในกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราว อย่างนักท่องเที่ยวนั้น ต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประกันสุขภาพตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศเพิ่มเติม โดยต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ปปกติค่าธรรมเนียมเข้าเมืองปัจจุบันจะมีการจัดส่งเข้าคลังทันที แต่ในกรณีการจัดประกันสุขภาพ อยากให้เป็นการตั้งกองทุนขึ้นเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ โดยนำมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงการพัฒนาการบริการทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สามารถรองรับการรักษา

ส่วนรูปแบบการบริหารจัดระบบหลักประกันสุขภาพคนต่างด้าว นพ.ถาวร กล่าว่า มี 3 แนวทาง คือ 1.มอบให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการร่วมกันในการจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ตรงนี้อาจต้องแก้ไขกฎหมาย 2. ในระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายให้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการไปก่อน และ 3.จัดตั้งองค์กรในกระทรวงสาธารณสุขเพื่กำกับดูแลอระบบหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อดำเนินการโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นในทิศทางใดคงต้องให้ฝ่ายบริหารและรัฐบาลพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมจากการประชุมผู้แทนหน่วยงานที่เข้าร่วมต่างเห็นด้วยและสนับสนุนในหลักการ การจัดให้มีระบบบริการสุขภาพคนต่างด้าว เนื่องจากต่างทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการลดภาระของประเทศในอนาคต แต่จะดำเนินการในรูปแบบใดนั้น ยังเป็นรายละเอียดที่ต้องหารือต่อไป