ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -เพียง 20 ก้าว จากอาณาบริเวณโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน อ.บ้านนา จ.นครนายก เกลื่อนกลาดไปด้วยแผงลอยซอมซ่อคร่ำครึ ทุกเย็นหลังเลิกเรียนปรากฏเป็นภาพชินตา พ่อค้าแม่ชายวัยชรากวักมือเรียกเด็กน้อย

700 ชีวิตที่ยังไม่เดียงสา ได้รับโอกาสอย่างเสมอหน้าในการเข้าถึง “ขนม” ... ขนมในที่นี้นิยามขึ้นตามรูปแบบภายนอก (บรรจุหีบห่อสีสันสวยสด) ทว่าภายในอัดแน่นด้วยทัณฑ์ทรมานเทียบเคียง “ขยะ-ยาพิษ” แฝงรูป

มองผิวเผิน (หรือมองด้วยสายตาเมินเฉย) แลเห็นคุณพ่อใจดีจูงมือลูกน้อยบรรจงเลือกซื้อขนมกรุบกรอบห่อโปรด หากแต่ลองมองลึกทะลุเข้าไปในแก่นสาร คุณพ่อใจดีคนเดิมกำลังปล่อยให้ลูกรักคัดสรร “ขยะ-ยาพิษ” ดื่มกินตามใจชอบโดยไม่รู้เท่าทัน

หีบห่อพลาสติกลวดลายสวยงามคือหน้าฉาก หลังฉากซุกซ่อนไว้ด้วยก้อนแป้งคุณภาพต่ำคลุกเคล้าผงชูรสราคาถูก บางประเภทอ้างว่าเป็นนมผงอัดเม็ด แท้ที่จริงเป็นเพียงเศษแป้งอัดด้วยสีและฉาบด้วยกลิ่นของนมอย่างไร้ความรับผิดชอบ ช็อกโกแลตตรงนั้นชิ้นละ 1 บาท ไม่มีฉลาก ไม่สามารถถามหาที่มาที่ไปจากใครได้

ใครบางคนกวาดสายตาโดยไม่จำเพาะ ยังแต่ขนมในลักษณะคล้ายคลึงกับขนมทั่วไปตามท้องตลาด ใครบางคนพินิจพิเคราะห์ จะประจักษ์แก่ใจว่าขนมเหล่านั้นหาใช่สิ่งที่คุ้นชินโดยทั่วไปไม่ ... นั่นเพราะเป็นขนมเหล่านั้นถูกจงใจผลิตลอกเลียนขึ้นมา เป้าประสงค์คือล่อลวงเด็กโดยอาศัยโฆษณาจากสื่อกระแสหลัก (ผลิตภัณฑ์ของแท้) เสริมแรง

ข้อเท็จจริงอันน่าสะพรึงกลัวต่อปรากฏการณ์การรุกคืบของ “ขนมปลอม-ขนมเถื่อน” ที่วางขายอย่างชุกชุมเหล่านั้น ถูกผลิตขึ้นโดย“ขบวนการ” ซึ่งมีนายทุนหนุนหลัง

เป็นขบวนการมืดที่ทับซ้อนอยู่ในสังคมและก่อการอย่างเป็นปกติ ... ขบวนการเหล่านี้ดำรงอยู่ได้โดยที่ไม่มีใครเอาผิด

ผลการศึกษาของ เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ สามารถจำแนกความฉ้อฉลของผู้ผลิตขนมเถื่อนออกเป็น 3 พฤติกรรม

หนึ่งคือ ผู้ประกอบการตระเวนรับซื้อขนมจากโรงงาน เป็นขนมที่หมดอายุ ขนมที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งขนมที่หีบห่อฉีกขาดไม่ผ่านคุณภาพ แล้วนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่ ก่อนส่งขายในร้านค้าตามชุมชนในราคาถูก โดยแหล่งผลิตและนำเข้าใหญ่ที่สุดคือ จ.ปัตตานี จ.หนองคาย จ.อุบลราชธานี และ จ.สุรินทร์

ประการต่อมา คือการนำเข้าขนมคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีน ประเทศมาเลเซีย โดยขนมเหล่านั้นจะไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีตรารับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่สำคัญคือไม่มีแม้แต่การระบุส่วนประกอบ

พฤติกรรมท้ายสุด คือผู้ประกอบการที่ตั้งใจผลิตขนมเลียนแบบขนมที่วางขายอย่างถูกต้อง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งระบุไว้เพียงคำว่า รสต้มยำ โดยมีบรรจุภัณฑ์ภายนอกคล้ายคลึงกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดัง แต่นำมาขายในราคาเพียง 1-2 บาท หรือแม้แต่ขนมกรุบกรอบขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ซึ่งจัดทำในทำนองเดียวกัน

สำหรับการกระจายตัวของขนมปลอมเหล่านี้ ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศทุกภูมิภาค แต่อาจจะหนาแน่นที่สุดบริเวณพื้นที่แนวชายแดน รองลงมาคือตามชนบท-ชุมชนห่างไกล

การดำเนินงานของ “ขบวนการขนมเถื่อน” เริ่มต้นจากตั้งหน่วยตะเวนรับซื้อขนมด้อยคุณภาพจากโรงงาน หรือจากโรงงานที่จงใจผลิตขนมเถื่อน จากนั้นจะขนขนมเหล่านั้นเข้าโรงงานหรือโกดังเพื่อบรรจุหีบห่อ ก่อนจะมีสายส่งเดินทางเข้ามารับ และกระจายขนมเหล่านั้นลงสู่ชุมชน โดยสายส่งจะทำงานในลักษณะเดียวกับสายส่งน้ำอัดลมหรือสายส่งหนังสือพิมพ์ กล่าวคือมีการแบ่งเส้นทางหลักๆ ชัด และมีสายส่งย่อยๆ รับไม้ต่อ

แม้ว่า อย.จะมีกฎหมายเอาผิดความฉ้อฉลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษขนมมาบรรจุใหม่ (รีแพ็ค) ซึ่งผิดตามมาตรา 51 พ.ร.บ.อาหารและยา (ไม่ขออนุญาตฉลาก) ระวางโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือแม้แต่การปลอมแปลงขนมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคซึ่งระวางโทษจำคุกระหว่าง 6-10 ปี ปรับ 5,000 – 1 หมื่นบาท แต่วิพากษ์กันตามข้อเท็จจริงแล้ว กฎหมายเหล่านี้นอกจากจะเบาเกินไป ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงอีกด้วย

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง เจ้าของรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ในฐานะผู้ทำงานด้านป้องกันและปราบปราม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งดูแลเรื่องขนมชายแดนอย่างใกล้ชิด สะท้อนสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ปัญหาขนมปลอมไม่ได้ลดลงเลยจากอดีต เนื่องจากกฎหมายที่มียังไม่ครอบคลุม อาทิ พ.ร.บ.อาหาร ของอย. ซึ่งกำหนดเพียงให้ผู้ประกอบการมาขออนุญาตผลิตให้ถูกต้อง แต่เมื่อผู้ประกอบการลักลอบผลิตก็ไม่สามารถตามไปเอาผิดได้

นอกจากนี้ กฎหมายยังควบคุมเฉพาะอาหารที่ไม่ปลอดภัย แต่ไม่ควบคุมอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อผู้ประกอบการผลิตขนมที่กินไปแล้วไม่ตาย แต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กฎหมายก็ไม่สามารถไปเอาผิดได้เช่นกัน

ภก.ภาณุโชติ สะท้อนข้อเท็จจริงอีกว่า สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือมีเครือข่ายในชุมชนที่ยึดการบรรจุภัณฑ์ขนมเถื่อนเป็นอาชีพ นั่นหมายความว่าทั้งหมู่บ้านมีการตะเวนซื้อขนมที่ไม่ได้มาตรฐานมาบรรจุใหม่ โดยมีรายได้จากการบรรจุขนมเหล่านั้น คำถามคือเครือข่ายเฝ้าระวังหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจะเข้าไปดำเนินการยาก เพราะจะกระทบกับวิถีคนเหล่านั้นในภาพใหญ่

“มันเป็นรายได้ของคนทั้งหมู่บ้าน การบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นเรื่องยาก แม้เราจะคำนึงถึงสิทธิเด็กว่าจำเป็นต้องได้รับอาหารที่มีมาตรฐานและปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงมันทำได้ยากมาก ดังนั้นข้อเสนอที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการควบคุมการโฆษณาขนม ในที่นี้หมายความรวมไปถึงขนมกรุงกรอบที่ถูกต้องด้วย เนื่องจากเด็กมีวุฒิภาวะต่ำส่วนใหญ่จึงตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา” ภก.ภาณุโชติ ระบุ

สำหรับการรุกคืบของผู้ผลิตขนมในปัจจุบัน พุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการขายเป็นหลัก โดยขณะนี้สามารถจำแนกออกมาได้ 5 กรณี ประกอบด้วย การใช้ดาราเป็นพีเซนเตอร์ การดึงประชาชนเข้ามีส่วนร่วมเช่นการให้ประกวดรสชาติขนม การส่งชิงโชคหรือกิจกรรมแฝงอื่นๆ การลดแลกแจกแถมเพิ่มปริมาณ และที่น่ากลัวที่สุดคือการบุกเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียน

ด้านแพทย์หญิงอีกราย ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชนบรรจุภัณฑ์ขนมเถื่อน จ.สุรินทร์ เล่าว่า ทุกวันนี้ในหมู่บ้านมีการจัดระบบเฝ้าระวังตัวเอง คือเมื่อมีรถทะเบียนแปลกหรือที่ไม่คุ้นเคยเข้ามา ก็จะมีการส่งสัญญาณเพื่อแจ้งให้คนในหมู่บ้านปิดบ้านหรือยกเลิกการบรรจุขนมไป โดยการบรรจุภัณฑ์ขนมเหล่านี้ทำกันทุกครัวเรือน ไม่มีมาตรฐาน บางรายถึงขั้นเทขนมกองไว้กับพื้นแล้วค่อยๆ โกยขนมใส่ถุงก่อนแพ็กเป็นห่อๆ แน่นอนว่าสกปรกไม่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การกวาดล้างผู้บรรจุขนมเหล่านี้ทำได้ยาก เนื่องจากทำกันเป็นหมู่บ้านทำกันเป็นชุมชน ทุกคนมีรายได้และยังชีพได้ด้วยการบรรจุขนมขาย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การกวาดล้างหรือให้เขาล้มเลิก แต่ต้องยอมรับการมีอยู่ของเขา และเข้าไปผลักดันให้เขาประกอบการอย่างได้มาตรฐานและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับเขา กว่าเขาจะไว้วางใจและยอมเปิดให้เราเข้าไปต้องใช้เวลา 2-3 ปี เราต้องเข้าไปสร้างความคุ้นชินกับเขา ทำให้เขาเข้าใจว่าเราไม่ได้เข้ามาทำร้าย ไม่ได้เข้ามาจับ แต่เข้ามาสนับสนุน ยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้” แพทย์ผู้ทำงานคลุกคลีกับวงการขนมเถื่อนยืนยัน

ด้าน ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. ให้ความเห็นไว้ว่า อย.ได้เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด เนื่องจากขนมกรุบกรอบโดยทั่วไปมีอันตราย มีความหวาน มัน เค็ม เมื่อเด็กรับประทานเข้าไปจะได้รับน้ำตาล เกลือ และไขมัน ในปริมาณที่เกินความพอดี แต่กรณีขนมปลอมนั้นยิ่งอันตรายมากกว่า เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อรา แบคทีเรีย สีผสมอาหาร ที่ไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาเข้าสู่ร่างกายได้

สอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศึกษาจากการนำขนมกรุบกรอบและอาหารว่างที่เด็กๆ นิยมซื้อรับประทานประมาณ 700 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ฉลากโภชนาการและส่วนประกอบ พบว่า มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีส่วนประกอบเหมาะสม ส่วนอีก 90%เต็มไปด้วยสารอาหารเกินพอดี และอันตรายต่อสุขภาพ

การบริโภคสารอาหารเกินความพอดี โดยเฉพาะการกินเค็ม หวาน มัน ตั้งแต่เด็กนั้น ข้อมูลจาก สำนักงานวิจัย คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า มีโอกาสที่เด็กจะ “เสพติด” รสชาติ โดยรสชาติเหล่านี้จะติดอยู่ในกระแสประสาทจนทำให้เด็กกินรสจืดไม่ได้ ที่สุดแล้วก็จะเป็นโรคอ้วน

ข้อมูลยังระบุอีกว่า โรงเรียนขนาดกลางในประเทศไทยมีเด็กอ้วนเฉลี่ย 20% ของเด็กทั้งหมด ในจำนวนนี้มีครึ่งหนึ่งเกิดปัญหาสุขภาพจากขนมกรุบกรอบที่เรียกว่าเมตาบอลิกซินโดรม คือการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ เนื่องจากมีไขมันมากเกิน จนไปสกัดกั้นการผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายดูดซึมกลูโคสไม่ได้ ร่างกายดื้ออินซูลิน เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง และโรคหัวใจ

สอดคล้องกับคำเตือนของ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้ว่า ไม่ควรเติมน้ำตาลลงไปในอาหาร เพราะน้ำตาลให้พลังงานแต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ขณะที่ โรเบิร์ต ลัสติก นักวิทยาต่อมไร้ท่อจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานฟรานซิสโก ระบุว่า ถ้าบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูง น้ำตาลจะเป็นพิษในตัวของมันเอง

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่คนไม่สามารถเลิกกินน้ำตาลได้ เนื่องจากเมื่อน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะไปกระตุ้นศูนย์ความพึงพอใจในสมองในตำแหน่งเดียวกับที่ตอบสนองต่อเฮโรอีนและโคเคน

น้ำตาลจึงเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งก็ว่าได้

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2555 ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม (เอแบคโพล) เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ประมาณการจำนวนเงินที่เด็กและเยาวชนใช้ซื้อขนมกรุบกรอบ พบว่าเด็กส่วนใหญ่หรือ 68.5% ใช้เงินซื้อขนมไม่เกินวันละ 50 บาท

ขณะที่รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 ปี 2546 (สำรวจทุก 10 ปี) โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กไทย 56.7% บริโภคขนมกรุบกรอบทุกวัน และมีบางส่วนที่มีพฤติกรรมบริโภคที่ไม่เหมาะสมคือบริโภคขนมกรุบกรอบแทนอาหารมื้อกลางวัน และนิยมบริโภคขนมกรุบกรอบในทุกมื้อของอาหารว่าง

พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกควรเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างคาดไม่ถึง ผลการวิจัยจาก สถาบันวิจัยสุขภาพลอว์สัน ประเทศแคนาดา พบว่า เมื่อหน้าท้องมีไขมันมาก จะทำให้สมองผลิตฮอร์โมน Neuropeptide Y หรือ NPY ขึ้นมา เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมน NPY มากๆ ยิ่งจะทำให้เซลล์ไขมันเพิ่มขึ้นอีก

เข้าใจโดยง่ายคือกลไกดังกล่าวกำลังกลายเป็นวงจรอุบาทว์ เมื่อ NPY ที่ผลิตในสมองทำให้คนกินจุขึ้น จึงลงพุง แต่หลังจากนั้นไขมันหน้าท้องจะผลิต NPY อีกทอดและทำให้หน้าท้องมีเซลล์ไขมันเพิ่มขึ้นต่อไป

ทั้งหมดนี้คือภัยของ “ขนมกรุบกรอบ” โดยเฉพาะ “ขนมปลอม-ขนมเถื่อน” ที่วางขายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง