ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คกก.พัฒนาระบบบริหารยาฯ เบรก กสพท.เสนอให้ข้าราชการร่วมจ่ายค่ายาไม่จำเป็น หลังกรมบัญชีกลางคุมยาต้นแบบ ระบุรอผลประเมิน 6 เดือน ด้าน “หมอประดิษฐ” ยันไม่ได้ห้ามสั่งใช้ยาต้นแบบ โวหนุนใช้ยาชื่อสามัญ ช่วยเซฟกระเป๋าตังปี 55 ได้ 2,000 ล้านบาท

วันนี้ (30 ต.ค.) นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย ผู้แทนเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) กล่าวถึงประกาศกรมบัญชีกลาง เรื่อง แนวทางการกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาสำหรับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งกำหนดอัตราการเบิกจ่ายค่ายาชื่อสามัญและกำหนดราคากลางยาต้นแบบ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2557 ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเงินของสถานพยาบาลแต่ละแห่งไม่สู้ดีนัก หากดำเนินการตามตามประกาศอาจเกิดผลกระทบได้ อย่าง รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล เมื่อคำนวณแล้วพบว่ารายได้จะหายไป 300 ล้านบาท และไม่แน่ใจว่ามาตรการที่ดำเนินการจะได้กลับมาเท่าไร

นพ.สนั่น กล่าวอีกว่า กสพท.จึงมีข้อกังวลและข้อเสนอ 4 เรื่อง คือ 1.ขอให้กำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับยาชื่อสามัญและยาต้นแบบ เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถบอกได้ว่ายาตัวใดเป็นยาชื่อสามัญหรือยาต้นแบบ เพราะบริษัทยาเดียวกันผลิตยาชนิดเดียวกันออกมาใน 2 ชื่อ 2.เสนอให้ประชาชนมีการร่วมจ่ายในเรื่องยา เพราะหากไม่ร่วมโรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่นำยาต้นแบบบางตัวมาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน 3.เสนอให้มีการทบทวนยาต้นแบบที่จำเป็นต้องใช้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเข้าไม่ถึงยา และ 4.ชีววัตถุจะจัดเป็นยาต้นแบบหรือไม่ ทั้งนี้ การเสนอเรื่องการร่วมจ่ายขอให้ดำเนินการในส่วนของยาต้นแบบที่ไม่จำเป็น แต่เป็นความต้องการของคนไข้ที่จะใช้ ส่วนยาต้นแบบที่จำเป็นก็เบิกกับกรมบัญชีกลาง

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาฯ กล่าวว่า แม้เรื่องการร่วมจ่ายค่ายา คณะกรรมการเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะมาตรการไม่ได้ส่งผลให้สถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลติดลบ แต่หลังการประเมินผลในอีก 6 เดือน จะทำให้ทราบข้อมูลการใช้ยาต้นแบบของข้าราชการว่าใช้ยาต้นแบบที่จำเป็นและไม่จำเป็นอย่างไร ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้งว่าต้องร่วมจ่ายยาต้นแบบที่ไม่จำเป็นหรือไม่

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมบัญชีกลางพิจารณาช่องว่างราคาระหว่างยาชื่อสามัญและยาต้นแบบในยาบางตัว หากพบว่าต่างกันมากควรออกมาตรการดำเนินการอีกรูปแบบหนึ่ง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำบัญชียาชื่อสามัญและยาต้นแบบ ส่วนยาที่เป็นชีววัตถุมอบหมายให้คณะกรรมการเทคนิคพิจารณาว่าควรจะเป็นยาต้นแบบหรือไม่

“ยืนยันว่าประกาศฉบับนี้ไม่ได้ห้ามใช้ยาต้นแบบ โรงพยาบาลยังพิจารณาการใช้ยาได้ตามความจำเป็นของคนไข้ แต่เมื่อครบกำหนด 6 เดือน จะมีการประเมินว่า มาตรการที่ดำเนินการทำให้รายได้ของสถานพยายาลเป็นบวกหรือลบ แต่รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้สถานพยาบาลของรัฐขาดทุนแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขเบื้องต้นจากการสนับสนุนเรื่องการใช้ยาชื่อสามัญอย่างเดียว โดยไม่รวมเรื่องลดการใช้ยาต้นแบบ ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงเฉลี่ย 3-4% ซึ่งค่ายาของระบบราชการปีละประมาณ 3-4 หมื่นล้าน จึงลดไปราว 2 พันล้านบาท และขณะนี้เท่าที่ทราบกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับอัตราค่าบริการด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ที่มา : www.manager.co.th