ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ปัจจุบันลูกจ้างชั่วคราวเงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ คือ ลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพ และลูกจ้างชั่วคราวสายสนับสนุน โดยในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพนั้นคือกลุ่มที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการ และถ้าแยกย่อยออกมาจะพบว่ามีหลายวิชาชีพมากที่จะได้รับสิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการในเร็วๆ นี้

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฉายภาพสถานะต่างๆ ของบุคลากรด้านสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขว่า มีทั้งหมด 24 สายวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบําบัด นักรังสีการแพทย์ นักกิจกรรมบําบัด นักจิตวิทยา นักฟิสิกส์รังสี นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก นักการแพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักโภชนาการ/นักกำหนดอาหาร นักสงคมสงเคราะห์ นักวิชาการทันตสาธารณสุข นักกายอุปกรณ์ นักวิชาการอาหารและยา นักวิชาการศึกษาพิเศษ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ และ เจ้าพนักงานสาธารณสุข

ในจำนวนนี้มีเพียงแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรเท่านั้นที่เรียนในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ส่วนที่เหลือส่วนมากจะได้รับทุนให้เข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัดสถาบันพระบรมราชนก ซึ่งเป็นสถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข ดูแลงานด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อจบออกมาจะต้องไปทำงานเพื่อชดใช้ทุนในโรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 2 ปี และการันตีว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ทั้งนี้การบรรจุนักเรียนทุนเป็นข้าราชการ รวมถึงข้าราชการส่วนอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาพุ่งไปถึง 200,000 กว่าคน ก่อนจะหยุดชะงัก และเกิดปัญหาด้านกำลังคนด้านสาธารณสุขอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลจะออกนโยบายไม่เพิ่มอัตราข้าราชการ ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องหารูปแบบวิธีการจ้างงานรูปแบบใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งในส่วนของกลุ่มวิชาชีพ และกลุ่มที่อยู่นอกสายวิชาชีพ เพื่อรองรับกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยที่กระทรวงการคลังเองก็ยอมรับว่ามีความจำเป็นจะต้องเพิ่มกำลังคนทางด้านนี้ แต่ก็ทำได้เพียงอนุมัติให้มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวโดยใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาล ซึ่งนพ.วินัย วิริยะกิจจา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นก็รับลูกด้วยการลงนามในระเบียบการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวด้วยเงินบำรุง

อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะเดียวกันกับที่ลูกจ้างกลุ่มวิชาชีพโดยเฉพาะสายที่รับทุนเริ่มทวงสัญญาด้วยการออกมาเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งการบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะพวกเขาเหล่านั้นรู้สึกเหมือนกับว่าถูกลอยแพมานานมากแล้ว และอัตราผู้ที่ถูกลอยแพก็เริ่มสะสมพอกพูนมาเรื่อยๆ จนมีจำนวนสูงถึง 30,000 คน จากทั้งหมด 24 สายงานวิชาชีพ

“ก่อนหน้าที่จะมีนโยบายไม่เพิ่มอัตราข้าราชการนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีข้าราชการในสังกัดจำนวน 200,000 กว่าคน และ 2 แสนกว่ามาหลายปี ถ้ามีการลาออกหรือเกษียณอายุราชการ กพ.จะเอาตำแหน่งคืนแล้วเราต้องทำเรื่องขอคืนเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งก็ได้ไม่เต็ม 100% เช่นเกษียณไป 100 คน เขาก็เอาตำแหน่งนั้นไปเราก็ต้องอธิบายว่าขอคืนตำแหน่งมาด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ แต่กว่าจะให้กลับมาเป็นปีเลย เราเลยต้องจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราว และก็จ้างงานแบบใหม่คือ พกส. เพราะว่าการจ้างลูกจ้างชั่วคราวไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย ก็เลยพยายามจัดระบบระเบียบกฎเกณฑ์”

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า การให้ทุนเรียนในสายวิชาชีพต่างๆ นั้นอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าน่าจะเกิดการอิ่มตัว เพราะหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามแก้ปัญหาเรื่องอัตรากำลังคนมาตลอด จนสามารถวางกรอบอัตรากำลังได้สำเร็จแล้วนั้นจะทำให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริง ดังนั้นหลังจากเกิดการอิ่มตัวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีนักเรียนทุนอีกก็ได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องมาหารือร่วมสถาบันพระบรมราชชนกอีกครั้งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะยังคงให้ทุนเรียนหรือไม่ จะให้ได้กี่อัตรา หรือผู้ที่ต้องการจะเรียนก็ต้องออกทุนเรียนเอง จบมาก็หางานทำเอง อย่างนี้เป็นต้น

 

นพ.อภิชาติ รอดสม ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก

ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า การผลิตบุคลากรป้อนเข้าระบบสาธารณสุขนั้นจะมีทั้งหลักสูตร 4 ปี และ 2 ปี ซึ่งหลักสูตรที่ต้องเรียน 2 ปีนั้นอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เรียน 4 ปี ทั้งหมด อย่างเช่น หลักสูตรเจ้าพนักงานเภสัชกรรมที่รอความเห็นจากสภาเภสัชกรรมอยู่นั้น หากผ่านความเห็นชอบก็สามารถปรับมาเป็นหลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับวิชาชีพพยาบาลและวิชาชีพอื่นๆ ทั้งนี้ การจะเข้ามาเรียนที่สถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันพระบรมราชนกนั้นจะบังคับให้นักศึกษาต้องเซ็นสัญญารับทุนจากรัฐ หรือสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ให้ทุนเพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะเข้าไปทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลของรัฐ หรือบางกรณีเปิดให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน ระหว่างรอเรียกตัวไปใช้ทุน

“เดิมนักเรียนทุนที่จบจากสถาบันการศึกษาในสังกัดพระบรมราชชนกจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทั้งหมด แต่มาในระยะหลังกลับไม่มีตำแหน่งข้าราชการให้ หรือที่ต่อสู้จนได้ตำแหน่งข้าราชการมา 7,500 ตำแหน่งต่อปีนั้นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะแต่ละปีจะมีบุคลากรทางการแพทย์จบออกมาหมื่นกว่าคน รวมที่ยังค้างท่ออีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่มีอยู่จึงไม่พอ” นพ.อภิชาติ กล่าว

ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าถ้ามีการอิ่มตัวระบบอาจจะไม่ผูกมัดผู้เรียนแบบนี้ แต่อาจจะลดกำลังการผลิตลง ลดการให้ทุน และให้ใช้เงินในการศึกษาเล่าเรียน เพื่ออิสระในการทำงานในโรงพยาบาลไหนก็ได้ ถือเป็นการผลิตบุคลากรเพื่อสังคมเพราะยังมีตลาดโรงพยาบาลเอกชน หรือที่อื่นรองรับอยู่ เช่น ท้องถิ่น อบต. เทศบาลที่อาจจะอยากเปิดเป็นสถานบริการของตนเอง เพราะฉะนั้นตลาดอาจจะอิ่มตัวบ้างแต่ความต้องการพยาบาลยังเยอะอยู่ เพราะว่าพยาบาลก็มีสูงอายุ เกษียณอายุ ลดการบังคับว่าต้องมาใช้ทุนกับเรา

นายสราวุฒิ ที่ดี กรรมการอำนวยการสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย 

ขณะที่นายสราวุฒิ ที่ดี กรรมการอำนวยการสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การให้ทุนการศึกษาในสายวิชาชีพพยาบาลก็เพื่อเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนในสายวิชาชีพนี้เป็นการเฉพาะหน้า โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะให้ทุนในการศึกษาเล่าเรียนแก่วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดพระบรมราชชนก ที่ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นพยาบาลจะต้องสมัครขอรับทุนนี้โดยไม่มีข้อเกี่ยงงอน ซึ่งเมื่อจบออกมาแล้วจะต้องลงไปอยู่ในพื้นที่ที่สสจ.จัดหาไว้ให้เพื่อเป็นการชดใช้ทุนเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหากไม่ทำอย่างนี้คนที่ออกทุนเรียนด้วยตัวเองก็จะไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนกันหมด หรือไม่ลงไปยังพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนกำลังคนลงไปอีก