ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอให้ข้าราชการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30-50% ในระบบสวัสดิการข้าราชการ ทดลอง 5 ปี เผยถ้าได้ผลดีจริง ข้าราชการไม่ไปใช้บริการพร่ำเพรื่อ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี จึงค่อยเอามาปรับใช้กับบัตรทอง เสนอกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีกองทุนเดียวเพื่อลดเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ

14 ก.ค. 57 นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตามที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับประชาคมสาธารณสุข แถลงข่าวการปฏิรูประบบการเงินการคลังของกระทรวงสาธารณสุข ในวันพรุ่งนี้(15 ก.ค.) โดย พญ.ประชุมพร บุรณ์เจริญ ระบุว่าเรื่องร่วมจ่ายนั้น แม้ในกลุ่มที่คัดค้านก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีจุดยืนที่ชัดเจนใน การปฏิรูประบบสุขภาพ ต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีกองทุนเดียวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ไม่ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะประชาชนจ่ายผ่านภาษีแล้ว แต่เมื่อข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุขบางส่วนเห็นว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล "เป็นสิ่งที่ต้องทำ" เราขอสนับสนุนให้ทดลองทำกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก่อน 

"เมื่อข้าราชการ สธ.บางส่วนเห็นว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (co-pay) เป็นเรื่องต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดการใช้บริการอย่างพร่้ำเพรื่อและไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป ระบบต้องล้มเพราะค่าใช้จ่าย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็ขอสนับสนุนให้ทดลองทำกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างน้อย 5 ปีว่าสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ไม่ทำให้ข้าราชการใช้บริการอย่างพร่ำเพรื่ออีกต่อไปแล้ว จึงกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การเริ่มทดลองใช้ระบบร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (co-pay) กับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก่อนนั้น หากประสบความสำเร็จจะสามารถทำให้ประเทศประหยัดงบประมาณและนำไปสู่การใช้งบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชนที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาระบบสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ยังไม่สามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ และกลายเป็นแหล่งหากำไรของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ 
 
"งานวิจัยพบว่า คนในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วย มากกว่าคนระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการและครอบครัว เพียง 5 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณมากกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงมาก คือ ประมาณ 12,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี เมื่อเทียบกับกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลประชากร 48 ล้านคน ด้วยเงินงบประมาณ 109,718,581,300 บาท หรือ 2,755.60 ต่อคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้นหากเริ่มทดลองกับระบบสวัสดิการข้าราชการจะให้ภาพที่ชัดเจนที่สุด" นายอภิวัฒน์ กล่าว