ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาคมสธ.มีมติส่งข้อมูลให้องค์กรกลางตรวจสอบการใช้งบสปสช. ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครอง และคสช. เตรียมอุทธรณ์คำสั่ง หมอรัชตะ ตั้งคกก.แก้ปัญหารพ.ขาดทุน เหตุรองเลขาธิการสปสช.ที่เป็นคู่ขัดแย้งเป็นเลขานุการ ทั้งส่วนประกอบของคกก.ไม่น่ามีอำนาจถูกต้อง ไม่แน่ใจหมอรัชตะต้องการอะไร เพราะสธ.เสนอทางแก้ไขไปแล้ว ในฐานะเจ้ากระทรวงควรรับฟัง แต่เมื่อเข้าบอร์ดสปสช. กลับถูกต้าน หาว่าสธ.บริหารไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ปัญหาเพราะจัดงบไม่เป็นธรรม เผยสิงห์บุรี นครนายกเหลืองบรักษาหลักร้อยบาทต่อคนเท่านั้น

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล 

17 ธ.ค.57 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะรักษาการประธานประชาคมสาธารณสุข(ปชค.สธ.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในเรื่องกลไกการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง เกิดจากการที่หน่วยบริการที่ให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองประมาณ 80 % อยู่ในสังกัดสธ. โดยมีการสะท้อนปัญหาและข้อเสนอให้กับสปสช.มานานมาก เกี่ยวกับการที่ประชาชนได้รับบริการและเข้าถึงบริการอย่างไม่เป็นธรรมจากกลไกการจัดสรรงบฯรายหัวแบบที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการสนใจ จึงเสนอต่อปลัดสธ.และได้มีการระดมสมองหาแนวทางแก้ปัญหา จนได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง และคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) แต่กลับมีการต้านแล้วใส่ความว่าสธ.บริหารจัดการไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งที่ความจริง เป็นเพราะการบริหารจัดการงบรายหัวที่ไม่เป็นธรรม

"ประชาคมสาธารณสุขได้ประชุมหารือกัน และมีมติเห็นว่าจะดำเนินการส่งข้อมูลให้องค์กรกลาง ทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครอง และประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทอง โดยให้มีการตรวจสอบทั้งฝั่งสธ.และสปสช. นอกจากนี้ จะให้ตรวจสอบกรณีการโอนงบฯบัตรทองไปยังหน่วยบริการแล้วเรียกโอนกลับเหมือนเป็นการยักย้ายถ่ายเท และการนำงบฯรายหัวไปจัดสรรให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยจะยื่นเรื่องให้ทั้ง 3 องค์กรในเร็วๆ นี้" นพ.สุทัศน์ กล่าว

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)แล้ว นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ประชาคมสาธารณสุขจะดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรมว.สธ. เนื่องจากเลขานุการของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นรองเลขาธิการสปสช.ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับสธ. และส่วนประกอบของคณะกรรมการในคำสั่งจะมีอำนาจถูกต้องหรือไม่ จึงไม่ทราบว่าการที่รมว.สธ.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรพ.สธ.ต้องการอะไร ทั้งที่ที่ผ่านมาหน่วยบริการสังกัดสธ.ได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาแล้ว จึงควรรับฟังในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวง

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปสช.ระบุว่ามีกลไกในการช่วยเหลือรพ.ที่มีปัญหาสภาพคล่องอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องปรับกลไกการจัดสรรงบฯรายหัวใหม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)มีการช่วยเหลือด้านการเงินแก่หน่วยบริการภายในจังหวัดกันมาตลอด เอาเนื้อจากตรงนั้นไปปะตรงโน้น สปสช.ไม่เคยรับรู้ เพราะไม่เคยลงไปดู มีแต่จัดสรรงบฯลงไป หน่วยบริการต้องปะเงินกันไปกันมา จนเกินจะปะกันในจังหวัดแล้ว ซึ่งปัจจุบันบางจังหวัดไม่สามารถดำเนินการปะได้แล้ว เพราะหน่วยบริการจนทั้งจังหวัด จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหา ให้มีการจัดสรรงบฯในระดับเขต มิเช่นนั้นประชาชนจะเดือดร้อน

"การแก้ปัญหาเรื่องกลไกการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทอง ต้องดำเนินการในระดับเขตสุขภาพ เพื่อที่จะสามารถเกลี่ยงบช่วยเหลือให้เพียงพอกับหน่วยบริการแต่ละแห่งภายในเขต เนื่องจากในระดับจังหวัดไม่สามารถเกลี่ยงบช่วยกันได้แล้ว โดยเฉพาะจังหวัดที่มีประชากรน้อย อาทิ แม่ฮ่องสอน สิงห์บุรี พังงา และนครนายก เป็นต้น โดย จ.สิงห์บุรีเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกจากงบรายหัวแล้ว จะมีเงินให้บริการประชาชนน้อยกว่า 100 บาทต่อคน และ จ.นครนายกเหลือน้อยกว่า 300 บาทต่อคน เพราะฉะนั้น รมว.ไม่ต้องสั่งให้มีการตรวจสอบรพ.สังกัดสธ.ใหม่ ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบและเสนอทางแก้ปัญหาแล้ว เพียงแต่นำไปปฏิบัติเท่านั้น" นพ.สุทัศน์กล่าว