ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางวิวาทะเรื่องการหาสาเหตุ "โรงพยาบาลขาดทุน" ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นตัวอย่างการจัดการระบบสุขภาพในพื้นที่ชายแดน ที่นอกจากไม่ขาดทุนแล้ว ยังกลายเป็น "โมเดลใหม่" ให้พื้นที่ทั่วประเทศ

พื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง มีประชากรกว่า 7 หมื่นคน จาก 9 เผ่า และมีปัญหากลุ่มบุคคลทางสถานะและสิทธิถึง 1.8 หมื่นคน โดยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดใน จ.เชียงราย และมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ ประเทศ

การไม่มีสถานะและสัญชาติของคนในพื้นที่ส่งผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง เช่น การไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกอำเภอ จะเดินทางออกหมู่บ้านไปติดต่อที่ว่าการอำเภอ โดยใช้เส้นทางลัดก็ไม่ได้ เพราะอาจเจอด่านตรวจที่อยู่ใน อ.แม่จัน ทำให้คนเหล่านี้ต้องออกนอกเขตทันที ซึ่งการออกไปรักษาตัวนอกพื้นที่เป็นอุปสรรคการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร และการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอย่างดีที่สุด โดยไม่มีเงื่อนไขด้าน "สัญชาติ"

ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา

ทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง เล่าว่า ได้อำนวย ความสะดวกให้กับคนทุกเชื้อชาติอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักหรือไม่ โดยมีล่ามประจำโรงพยาบาล 6 คน รวมถึงเสียงตามสายในโรงพยาบาลก็จะเปลี่ยนภาษาไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนไข้ที่เข้ารับการรักษาเข้าใจขั้นตอนอย่างละเอียด

คนไข้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีเพียง 2.3 หมื่นคน ขณะที่กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสิทธิรักษา เข้ารับการรักษามากกว่าปีละ 1.2 หมื่นคน รวม 1.8 หมื่นครั้ง เป็นค่าใช้จ่ายเกือบ 6.9 ล้านบาท ซึ่งบัตรทองดูแลไม่ทั่วถึง

โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ประชากรส่วนใหญ่ดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้มีผู้ป่วยไม่มากชาวบ้านชนเผ่าบนดอยสูงที่เข้ารับการรักษา ไม่ได้คิดที่จะรับการรักษาฟรี ทำให้ไม่ขาดทุน

นอกจากนี้ ยังรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโรงพยาบาล 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่จัน แม่ฟ้าหลวง ดอยหลวง เชียงแสน และเวียงเชียงรุ้ง จัด "เขตบริการสุขภาพ" ของตัวเอง โดยนำงบเหมาจ่ายรายหัวมารวมกันทำตั้งแต่จัดซื้อ-จัดจ้าง ในโรงพยาบาล รวมถึงซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องของบเพิ่มจาก สปสช. หรือต้องรอรับการสนับสนุนจาก สธ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. จะนำตัวเลขประชากรกลุ่มคืนสิทธิการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามมติคณะรัฐมนตรี 23 มี.ค. 2553 กว่า 3 แสนคน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีอนุมัติก็จะทำให้กำแพงที่เคยกั้นไม่ให้คนเหล่านี้ได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พังทลายลง และแน่นอนโรงพยาบาลตามแนวชายขอบเหล่านี้ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองได้มากขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558