ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.เจตน์’ อภิปรายพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบปี 59 เผยงบเหมารายหัวเพิ่มขึ้นแค่ 7% แจงประชาชน 48.8 ล้านคน แต่มีงบรักษาแค่ 1.2 แสนล้านเท่านั้น ห่วงคุณภาพรักษาพยาบาลจะลดลงเรื่อย เหตุ รพ.สังกัด สธ.ได้รับงบไม่พอ ชี้คนหนีไปใช้ รพ.เอกชน เพราะ รพ.รัฐต้องรอคิวนาน แถมคุณภาพลดลง ฝากรัฐบาลชัดเจนกำหนดทิศทางรักษาพยาบาล ชี้ต้องเพิ่มคุณภาพ รพ.รัฐให้ทัดเทียมเอกชน ไม่ใช่ลดเอกชนให้เท่ารัฐ ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน รพ.ต้องดูแลรักษาเท่าเทียม

เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 วงเงินกว่า 2.7 ล้านล้านบาท โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้เวลาอภิปรายทั้งสิ้น 2.15 ชั่วโมง แจง 8 ยุทธศาสตร์ 19 แผนบูรณาการ โดยร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการเพิ่มงบฯ ด้านลงทุนเป็น 5.4 แสนล้านบาท หรือ 20% พร้อมตั้งงบกลาง 3.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 186 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และเสนอตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 50 คน แปรญัตติ 15 วัน ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน

ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. อภิปรายว่า งบประมาณปี 59 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับงบประมาณ 123,009 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับประชาชน 48.8 ล้านคน ในวงเงินนี้เพิ่มจากปี 58 จำนวน 8,045.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยค่าเหมาจ่ายรายหัว 3,027.94 บาท/คน/ปี เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 33.85 บาท แต่ที่มีปัญหาคือคุณภาพกำลังจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งตนเป็นห่วง และกังวล เพราะโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขซื้อยาและเวชภัณฑ์น้อยลง ผลกระทบจะเกิดขึ้น

หากรัฐบาลยังคงควบคุมค่าเหมาจ่ายรายหัว ปัญหาจะกระทบกับสถานพยาบาล โรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เพราะต้องรัดเข็มขัดเพื่อความอยู่รอด จึงอยากฝากรัฐบาล ส่วนที่เป็นประเด็น คือ เรื่องค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแพง เพราะประชาชนที่เคยมาใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถเข้าคิวรอ ไม่สามารถทนกับบริการที่คุณภาพลดลง ทำให้ประชาชนต้องหนีไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนแล้วเจอค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่แพง รัฐต้องแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญปี 58 มาตรา 294 กำหนดว่ารัฐบาลจะต้องควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาล

“ผมจึงอยากฝากว่าให้ให้รัฐบาล กำหนดนโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะมีทิศทางไปในทางใด เราจะสนับสนุนนักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่มีเงินเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนได้อย่างไร แต่จะต้องเพิ่มคุณภาพของรัฐให้เท่าเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน ไม่ใช่ลดคุณภาพของโรงพยาบาลเอกชนให้เท่าเทียมกับโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากนี้กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเท่าเทียมกัน ในส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่เก็บค่ารักษาพยาบาลแพงรัฐบาลต้องเจรจาและพูดคุย เพื่อให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการและได้รับบริการรักษาที่ดีมีคุณภาพ” นพ.เจตน์ กล่าว