ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.แม่สอด ชี้ บัตรประกันสุขภาพข้ามชาติระยะเวลาคุ้มครอง 2 ปี กำลังเป็นปัญหา ตัวเลขสะท้อนอัตราขึ้นทะเบียนลดลง ระบุ ราคาสูง-แรงงานไม่ต้องการซื้อ เสนอ “กระทรวง สธ.” ทบทวนนโยบาย ออกแบบให้เหมาะสม

นพ.สุชาติ พรเจริญพงศ์

นพ.สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลมีภาระงบประมาณจากการดูแลผู้ป่วยสังคมสงเคราะห์ที่ไม่มีกำลังทรัพย์เฉลี่ยปีละ 40-60 ล้านบาท แต่สาเหตุที่โรงพยาบาลยังพออยู่ได้เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี โดยใช้วิธีการเกลี่ยงบประมาณจากแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนซึ่งมีเกณฑ์ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ (ซื้อบัตรประกันสุขภาพ) และจากแรงงานที่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้

นพ.สุชาติ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเราจำเป็นต้องนำแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ขึ้นมาอยู่บนดินให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาเหล่านั้นไม่เป็นคนเถื่อนและเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วก็จะสามารถเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพได้ ฉะนั้นต้องขอบคุณคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนออกมาจนทำให้ตัวเลขในปี 2557 มีแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าสถานการณ์การขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยตัวเลขในปี 2558 2559 จนถึงปัจจุบัน สะท้อนว่าแม้ตัวเลขแรงงานไม่ได้ลดน้อยลงแต่ภาพรวมของการขึ้นทะเบียนกลับน้อยลง ฉะนั้นฝ่ายบริหารจำเป็นต้องคิดในเชิงนโยบายใหม่เพื่อปรับกระบวนการใหม่ให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

นพ.สุชาติ กล่าวว่า ในปี 2559 มีการปรับเปลี่ยนการขายบัตรประกันสุขภาพจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และเพิ่มราคาบัตรประกันสุขภาพเป็นกว่า 3,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงและกำลังสร้างปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากแรงงานไม่ต้องการเสียเงินซื้อและไม่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือลักษณะของแรงงานที่เข้ามาทาง อ.แม่สอด จะเป็นแรงงานที่ต้องการเดินทางต่อไปค้าแรงงานที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และพื้นที่ปริมณฑล ฉะนั้นคนกลุ่มนี้จะใช้ อ.แม่สอด เป็นเพียงทางผ่าน แต่ตัวของเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ หรือกรณีแรงงานที่ข้ามไปข้ามมา รวมถึงแรงงานที่ทำงานตามฤดูกาลผลิต เช่น ภาคเกษตร ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่เพียงไม่กี่เดือน โดยแรงงานทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะไม่ต้องการเอาเงินมาซื้อบัตรประกันสุขภาพทีละ 2 ปี ในราคากว่า 3,000 บาท

นพ.สุชาติ กล่าวต่อไปว่า ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรกันดีเพื่อให้แรงงานซื้อบัตรประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น คือผู้ที่คิดนโยบายบัตรประกันสุขภาพ 2 ปี อาจมองว่าเป็นสิ่งที่ดี คือแรงงานจะได้ไม่ต้องมาซื้อบัตรกันบ่อยๆ ทุกปี แต่ในข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งทำให้เราไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ

“ส่วนตัวเคยให้ข้อมูลกับส่วนกลางไปแล้วว่า ตัวเลขมันฟ้องว่าหากทำเช่นนี้ (บัตรประกันสุขภาพราย 2 ปี) การขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติก็จะน้อยลง ผมคิดว่ากลุ่มประกันสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มองเห็นปัญหาในเรื่องนี้ ฉะนั้นควรที่จะพูดคุยกันและนำข้อมูลปัญหาของแต่ละพื้นที่กลับไปพิจารณาดูว่าจะออกแบบระบบในการซื้อขายประกันสุขภาอย่างไรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์จริง” นพ.สุชาติ กล่าว

นพ.สุชาติ กล่าวอีกว่า ข้อมูลปี 2558-2559 มีผู้ซื้อบัตรประกันสุขภาพที่โรงพยาบาลแม่สอดเพียง 1 หมื่นกว่าราย ในขณะที่ก่อนหน้านี้คือในปี 2557 มีผู้ซื้อบัตรประกันสุขภาพอยู่ที่ 4 หมื่น - 5 หมื่นราย ซึ่งช่วยให้โรงพยาบาลสามารถอยู่ได้ เนื่องจากมีเม็ดเงิน แต่เมื่อตัวเลขลดลงโรงพยาบาลก็มีเม็ดเงินลดลง แต่ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการกองทุน

ผอ.รพ.แม่สอด กล่าวว่า โรงพยาบาลต้องขายบัตรประกันสุขภาพและยิ่งขายมากเท่าใดก็ยิ่งดี โดยผู้ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพในวัยหนุ่มสาวก็จะไม่ค่อยเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพเท่าใดนัก การเข้ารับการรักษาพยาบาลจึงมีไม่มาก ฉะนั้นเงินในระบบกองทุนส่วนนี้ก็จะถูกนำไปบริหารจัดการเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการรุนแรงหรือมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงผู้ป่วยในกลุ่มสังคมสงเคราะห์ต่อไป

“เราต้องการขายบัตรประกันสุขภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในที่มีแรงงานเยอะๆ ยิ่งต้องขาย ลองคิดสภาพดูว่ามีแรงงานสักหมื่นคนที่เราไม่ขายบัตร หากคนกลุ่มนี้เจ็บป่วยขึ้นมา เขาไม่มีเงินจ่ายหรอกครับ วันๆ หนึ่งไม่รู้จะอนุเคราะห์เท่าไร ฉะนั้นโดยหลักการแล้วยิ่งขึ้นทะเบียนเยอะยิ่งดี" นพ.สุชาติ กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันราคาบัตรประกันสุขภาพอยู่ที่ 3,700 บาท แบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 3,200 บาท โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 2 ปี