ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่ม ขรก.สธ.อดีตพนักงานของรัฐ ปี 43-46 เตรียมร้องปลัด สธ. 5 มิ.ย.นี้ ขอความคืบหน้าเยียวยาสิทธิเกื้อกูล หลังยื่นเรื่องมานาน 4 ปี ขรก.กว่า 2.6 หมื่นคนได้รับผลกระทบ เหตุถูกตัดสิทธินับอายุ ขรก.ช่วงเป็นพนักงานของรัฐ ส่งผลต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญ พร้อมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากหลักเกณฑ์เยียวยา ก.พ. เป็นเหตุให้เงินเดือน ขรก.รุ่นน้องแซงหน้ารุ่นพี่ ก่อปัญหาการทำงานในระบบ

นายมานพ ผสม ตัวแทนกลุ่มข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอดีตพนักงานของรัฐ ปี 2543-2546 กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 นี้ ตัวแทนข้าราชการซึ่งเป็น “พนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” ปี 2543-2546 จะเข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการเยียวยาอายุราชการ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 26,000 คน

ทั้งนี้ที่มาปัญหาเกิดจากในปี 2543 ถึง 2546 ซึ่งรัฐบาลได้จำกัดอัตราการบรรจุข้าราชการ ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งไม่พอ ทั้งต้องการจำกัดจำนวนข้าราชการเพื่อเตรียมกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ส่งผลให้นักเรียนทุนภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องถูกยกเลิกสัญญาบรรจุข้าราชการหลังจบการศึกษา โดยทำงานในฐานะลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานของรัฐรุ่นแรกแทน เรียกว่า “เป็นรุ่นฉีกสัญญาทั้งที่เป็นนักเรียนทุน” ถูกเลือกปฏิบัติที่เป็นสิ่งที่กระทรวงให้สัญญาไว้ก่อนเข้าเป็นนักเรียนทุน ขณะที่ผู้ที่จบนักเรียนทุนก่อนหน้านี้ต่างได้รับการบรรจุข้าราชการทั้งหมด

ทั้งนี้ต่อมาในสมัยรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตร จึงได้มีนโยบายบรรจุราชการให้กับพนักงานของรัฐทุกคน โดยได้รับบรรจุเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 แต่ปรากฎว่ากลับไม่สามารถนับต่ออายุราชการได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในระบบขึ้น เนื่องจากไม่สามารถนำช่วงเวลาทำงานในขณะเป็นพนักงานของรัฐมาคิดในกองทุนบำเหน็จบำนาญได้ ทั้งที่เงินเดือนพนักงานของรัฐที่ได้ขณะนั้นไม่ต่างจากข้าราชการ คือเริ่มต้น 6,360 บาท แตกต่างจากพนักงานของรัฐในปัจจุบันที่มีอัตราเงินเดือนมากกว่าข้าราชการ

นายมานพ กล่าวว่า นอกจากนี้ผลจากหลักเกณฑ์การเยียวยา นร 1012.2/250 โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 จากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานราชการ ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงพนักงานของรัฐ เพื่อเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์เยียวยา นร 1008.1/154

ส่งผลให้น้องๆ ที่เริ่มต้นทำงานทีหลังได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนที่แซงหน้าพี่ๆ ข้าราชการอย่างมาก ไม่เพียงแต่กลุ่มที่เป็นพนักงานของรัฐเท่านั้น แต่รวมถึงพี่ๆ ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุก่อน 11 ธันวาคม 2555 ด้วย

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ น้องที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวเริ่มต้นทำงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 และได้รับการบรรจุตำแหน่งข้าราชการในวันที่ 20 ตุลาคม 2551 ซึ่งเมื่อนับเวลาทำงานในขณะเป็นลูกจ้างชั่วคราวคือ 3 ปี 7 เดือน และเมื่อนับอายุราชการถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 จะอยู่ที่ 5 ปี 1เดือน ซึ่งผลจากหลักเกณฑ์ ก.พ.เยียวยาย้อนหลังรวมเป็นอายุราชการ 9 ปี 8 เดือน ส่งผลให้จากเงินเดือน 11,930 บาท ปรับเพิ่มเป็น 28,000 บาททันที เป็นอัตราเงินเดือนที่แซงหน้ารุ่นพี่ที่ทำงานก่อนหน้านี้ ซึ่งบางคนบรรจุเป็นข้าราชการ 12 ปี 8 เดือน เงินเดือนยังอยู่ที่ 24,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้รุ่นพี่บางคนทำงานมาเกือบ 20 ปีแล้ว เงินเดือนยังไม่ถึง 30,000 บาท จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบขึ้น

“สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดปัญหาความเคารพนับถือการทำงานในระบบหายไป เมื่อรุ่นพี่เห็นเงินเดือนน้องๆ มากกว่า ทั้งที่ตนเองทำงานมานานกว่า มีความเชี่ยวชาญมากกว่า รวมถึงภาระงานที่มากกว่า ก่อให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งขณะนี้ส่งผลกระทบต่อระบบทั่วประเทศแล้ว”

กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นขอความเป็นธรรมต่อ ก.พ.และกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมาได้รับเพียงแต่คำชี้แจง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ได้มีการยื่นเรื่องไปยัง สธ.อีกครั้ง โดย สธ.มีหนังสือส่งไปยัง ก.พ.เพื่อพิจารณา จนถึงขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 8 แล้วยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 นี้ จะไปตามความคืบหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะมีตัวแทนประมาณ 100 คน ซึ่งอยากให้ ก.พ.และ สธ.มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ที่เกิดจากความผิดพลาดของระบบ รวมถึง ก.พ.เองในการออกหลักเกณฑ์เยียวยาที่ไม่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด.