ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.แม่สอด เผย อสต.แม่สอดกลไกสำคัญเชื่อมต่อระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ หนุนงานส่งเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรคประสบผลสำเร็จ เน้นกลยุทธ์ดูแลคนต่างชาติในชุมชนด้วยกัน ระบุหากขาด อสต. หวั่นทำโรคระบาดเพิ่มขึ้น หนุน สธ.ตั้งเขตสุขภาพพื้นที่พิเศษ กำหนดบทบาท อสต. พร้อมมอบสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจรุกงาน อสต.ต่อเนื่อง

นายพงษ์พจน์ เปียนําล้อม นักวิชาการสาธารณสุขชํานาญการ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ในการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) มีเป้าหมายเพื่อเป็นแกนนำสุขภาพสำหรับในชุมชนคนชาติแออัด โดยใช้หลักการสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ โดยมีบทบาทสำคัญในการเชื่อประสานช่วยให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในชุมชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ รพ.แม่สอดจัดให้ได้ และยังทำหน้าที่สนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังและควบคมโรคติดต่อที่เกิดในชุมชน อาทิ ช่วยค้นหาผู้ป่วยวัณโรค การกำจัดลูกน้ำยุงลาย การทำให้น้ำดื่มในบ่อน้ำใสสะอาดโดยปรับปรุงสุขาภิบาลน้ำดื่ม น้ำใช้ เช่น การใส่คลอรีนในบ่อน้ำสม่ำเสมอ ช่วยลดการเกิดโรคอหิวาตกโรคที่เป็นปัญหาในอดีต เป็นต้น เป็นผู้ที่ช่วยให้ความรู้ด้านสุขศึกษาในสถานีอนามัย หรือ Health post ในพื้นที่ ทั้งการฉีดวัคซีนเด็ก บริการวางแผนครอบครัว และการฝากครรภ์ ทั้งยังช่วยติดตามกลุ่มเป้าหมายให้มารับบริการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ อสต.ในพื้นที่แม่สอดยังมีบทบาททำหน้าที่ขายยาให้กับ “กองทุนยาต่างชาติ” (Sub Health post) ที่ รพ.แม่สอดได้จัดตั้งขึ้นในชุมชนชาวต่างชาติ รวม10 แห่ง เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาสามัญประจำบ้านในพื้นที่ ในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนเบื้องต้น โดย รพ.แม่สอด จะคัดเลือก อสต.ที่มีจิตอาสามีความรู้และความตั้งใจ มาอบรมเพื่อทำหน้าที่นี้ โดย อสต.ที่มีศักยภาพจะถูกพัฒนาเป็นทีมตอบโต้และควบคุมโรคในชุมชน (SRRMT) และผู้อพยพ ซึ่งจะมีการอบรมและฟื้นฟูความรู้ให้กับ อสต. เป็นประจำทุกปี ทั้ง อสต.ใหม่ และ อสต.ที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม เน้นสภาพปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีพนักงานสาธารณสุขต่างชาติ (พสต.) เป็นพี้เลี้ยง เรียกว่า อสต. เป็นบทบาททำงานเพื่อชุมชนเอง

“จุดเริ่มต้นของการพัฒนา อสต.แม่สอด เพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับชาวต่างชาติในพื้นที่ชุมชนคนต่างชาติ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคเป็นหลัก ดำเนินการโดยคนในชุมชนต่างชาติเพื่อคนต่างชาติด้วยกัน และยังช่วยการลดอุปสรรคด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร และทำให้เจ้าหน้าที่ รพ.ได้รับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ถูกต้อง ที่เป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสาธารณสุขในพื้นที่ แรกเริ่มมีการสร้างเครือข่าย อสต.ใน 14 ชุมชนพื้นที่คนต่างชาติ และต่อมาได้พัฒนา อสต.ในโรงงานอุตสาหกรรม”

นายพงษ์พจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รพ.แม่สอดให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างเครือข่าย อสต. จึงได้มีการจัดกิจกรรม อสต. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่นี้ อาทิ การจัดกีฬาแข่งขันในกลุ่ม อสต. การมอบรางวัลให้กับ อสต.ที่ทำงานดีและเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน การออกบัตรประจำตัว อสต.ที่ผ่านการอบรมโดย รพ.แม่สอด และการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลให้กับ อสต.ในรายที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก ซึ่ง รพ.แม่สอดได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศัยภาพ อสต.เป็นระจำทุกปี เพื่อให้มีความรู้ในการดูแลและช่วยเหลือคนในชุมชนด้านสุขภาพและสาธารณสุข รวมถึงการสนับสนุนยาสามัญประจำบ้านเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนยาในระยะเริ่มต้น เพื่อนำเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านสุขภาพในพื้นที่

“หากขาด อสต.แล้วจะทำให้ขาดการประสานงานกับชุมชนต่างชาติที่มีจำนวนมาก ขาดเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรค การเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคก็จะลดลง อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคในชุมชนเป็นวงกว้างได้ ขณะเดียวกันการบริการสุขภาพของเจ้าหน้าที่ รพ.แม่สอดทำได้ยากขึ้น ขาดคนประสานกับชุมชนในการติดตามกลุ่มเป้าหมายเพื่อมารับบริการ อาทิ การให้วัคซีนในเด็ก การฝากครรภ์ และวางแผนครอบครัวที่ปัจจุบันทำได้ดี โดยให้บริการ 5,000-6,000 รายต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดความแออัดของผู้มารับบริการที่ รพ.แม่สอดได้ รวมถึงยังแบ่งเบาภาระ อสม.ในการเข้าถึงชุมชน ที่นอกจากมีจำนวนจำกัดแล้ว ยังมีปัญหาภาษาสื่อสารกับชุมชนต่างชาตินี้

นายพงษ์พจน์ กล่าวต่อว่า ในการสนับสนุน อสต.นั้น หากกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาจัดตั้งเขตสุขภาพพิเศษขึ้นจริง อาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติคงมีรูปดำเนินงานอย่างเป็นระบบในภาครัฐ เพื่อช่วยให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และ อสต.จะเป็นกลุ่มหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข ในการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ อสต.เพื่อตอบแทนความตั้งใจในการช่วยเหลืองานสาธารณสุชของประเทศ อาทิ สิทธิรักษาพยาบาล ชุดแต่งกาย การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ เป็นต้น เพื่อเป็นการยกย่องและตอบแทนความเป็นอาสาสมัคร โดยอาจใช้เกณฑ์ระยะเวลาการทำงานของเป็น อสต.มาเป็นแนวทางการสนับสนุน พร้อมประกาศให้ทุกหน่วยงานราชการได้รับรู้รับทราบถึงความสำคัญของการมี อสต. น่าจะช่วยทำให้การบริการสุขภาพในชุมชนได้ผลดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง