จิตแพทย์ เตือน เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ควรดูซีรีส์ฉาก 18+ เสี่ยง พฤติกรรมเลียนแบบ แยกแยะโลกความจริง - โลกเสมือนไม่ได้ ย้ำ หากควบคุมยาก ต้องมีผู้ใหญ่คอยดูด้วย พร้อมสอนคิด วิเคราะห์ แยกแยะ

พ.ญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านนานกว่าปกติ เพราะไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียน เที่ยวเล่น หรือออกไปข้างนอกกับผู้ปกครองได้ เพื่อป้องกันการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวต้องเจอปัญหาเด็กติดจอ เพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาเลี้ยงดูใกล้ชิดเนื่องจากมีงานต้องรับผิดชอบตามหน้าที่ และพบว่าบางครอบครัวไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก จนทำให้เด็กมีพฤติกรรมติดจอและรับสื่อไม่เหมาะสมตามวัย ส่งผลกระทบต่อร่างกาย พัฒนาการ อารมณ์ มีพฤติกรรมเลียนแบบ และได้รับผลกระทบทางจิตใจ เนื่องจากปัจจุบันการเข้าถึงสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และช่องทางอื่นๆ สามารถรับชมง่าย จนอาจเป็นเรื่องยากที่ผู้ปกครองจะจัดการและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น

การรับสื่อผ่านโทรทัศน์เป็นอีกช่องทางที่ผู้ปกครองต้องไม่ละเลยในการดูแลเด็ก เนื่องจากละครหรือซีรีส์บางเรื่อง มีฉากเนื้อหารุนแรง ฆาตกรรม ร่วมเพศ อาจทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี แยกแยะโลกแห่งความจริงกับเรื่องแต่งไม่ได้ ซึ่งผู้ปกครองต้องรู้วิธีพูดคุย สื่อสารกับเด็กให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้สมองและจิตใต้สำนึกของเด็กซึมซับสิ่งที่เห็นจนมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือฝังใจกับสิ่งที่ดูจนเกิดเป็นความกลัว ส่วนวัยรุ่นอาจเป็นช่วงวัยที่ห้ามพฤติกรรมเหล่านี้ยาก เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องการทดลอง อยากรู้ อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ตามกระแสสังคม ผู้ปกครองอาจต้องใช้วิธีนำฉากต่างๆ ในละครหรือซีรีส์ที่เด็กรับชมมาพูดคุยมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อให้เด็กแยกโลกความจริงกับโลกเสมือนจริงได้ที่แต่งขึ้นให้ได้ เช่น การดึงฉากด้านมืดของมนุษย์ในฉากต่างๆ มาคุยกับเด็กว่ามีผลกระทบอะไรกับสังคม และหากไปทำพฤติกรรมเลียนแบบเด็กจะต้องเจอปัญหาอะไรตามมา

ข้อแนะนำวิธีดูแลเด็กเรื่องการรับสื่อ

  1. ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กใกล้ชิดเรื่องการรับสื่อ ทั้งเนื้อหา ความเหมาะสมตามช่วงวัย และเวลาในการรับสื่อ เพราะสมองเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ยังแยกแยะโลกเสมือนจริงกับเรื่องที่แต่งขึ้นไม่ได้ได้ อาจทำให้สมองซึมซับสิ่งที่เห็นและมีพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่าย
  2. หากฉากละคร ซีรีส์มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อช่วงวัย ผู้ปกครองต้องนั่งดูด้วยทุกครั้ง และใช้โอกาสนี้พูดคุย วิเคราะห์ฉากต่างๆ ให้เด็กฟัง และหากเกิดผลกระทบทางอารมณ์ จิตใจ ต้องหาทางออกให้เด็กได้
  3. ผู้ปกครองต้องรู้พฤติกรรมของเด็กว่ามีลักษณะขี้กลัว กังวล หรือมีอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว เพื่อจะได้รู้วิธีรับมือกับผลกระทบที่อาจจะตามมา
  4. หากผู้ปกครองป้องกันการเข้าถึงสื่อของเด็กไม่ได้ ควรหาเวลาพูดคุย เพื่อสอนวิธีแยกแยะความไม่เหมาะสม สิ่งที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ป้องกันไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะสั้นและระยะยาว  

สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการศึกษาวิธีเลี้ยงลูกเชิงบวกเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดจอ สามารถติดตามความรู้ ข้อแนะนำ และวิธีการเลี้ยงเด็กในทันสมัยได้ที่ https://happinet.club/ จัดทำขึ้นโดยภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในเว็บไซต์เต็มไปด้วยความรู้สร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวจำนวนมาก

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org